ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยชี้แจง หลังสมาคมโรคติดเชื้อฯ เผยข้อมูลหน้ากากผ้าไม่ป้องกันเชื้อโรค ระบุมาตรการหลักคือต้องล้างมือ พร้อมระบุหน้ากากผ้าป้องกันเชื้อได้ 54-59% แต่ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ เพราะขนาดผ้าเล็กกว่าเชื้อไวรัส

ตามที่สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนทั่วไปในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยระบุว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วย การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจเพิ่มความเสี่ยงหากใช้ไม่ถูกวิธี เพราะจะเพิ่มโอกาสการใช้มือสัมผัสใบหน้า นอกจากนั้น การสวมหน้ากากอนามัยต้องป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือต้องเข้าไปสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี พร้อมย้ำว่าการใช้หน้ากากผ้าก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ปรากฎว่าในสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่า สรุปแล้วการสวมหน้ากากแบบผ้ายังจำเป็นหรือไม่ และต้องเชื่อใครระหว่างกระทรวงสาธารณสุข หรือทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจว่าทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ ต้องการพูดในประเด็นว่า หน้ากากอนามัยมีความจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงถูกละอองฝอยจากการไอ และจามมากกว่า เนื่องจากหน้ากากผ้าจะกักเก็บความชื้น ป้องกันไอ จามไม่ได้เลย เรียกว่าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ยกเว้นมีอาการป่วย ไอ จาม ควรป้องกัน เพื่อแพร่การกระจายเชื้อไปยังผู้อื่น

“ขอย้ำว่า ประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยสามารถสวมใส่หน้ากากผ้าได้ เพียงแต่ใช้แล้ว 1 วันต้องซัก จึงควรมีหน้ากากผ้าสลับสับเปลี่ยน แม้จะไม่ได้ป้องกันได้ 100% แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้บ้าง ดีกว่าไม่ป้องกันเลย เพียงแต่ที่สมาคมโรคติดเชื้อฯ ออกมาเตือน เพื่อต้องการให้เห็นว่า การสวมหน้ากากผ้าไม่ใช่มาตรการหลักในการป้องกัน แต่สิ่งสำคัญสำหรับคนไม่ป่วยคือ การล้างมือบ่อย ๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลัก ๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล” พญ.พรรณพิมล กล่าว

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้อาจยังมีความสับสน แต่เรายังขอยืนยันว่า หน้ากากผ้ายังเป็นทางเลือกของคนไม่ป่วยในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งสิ่งที่กรมอนามัยทำอยู่ขณะนี้ คือ รณรงค์ให้คนไทยมีพฤติกรรมสุขภาพ 3 อย่าง คือ 1.คนปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่สิ่งสำคัญคือ ลดการสัมผัส ไปไหนมาไหนไม่จำเป็นต้องสัมผัสสิ่งของก็อย่าจับ แต่ก็เป็นไปยาก ดังนั้น จึงแนะนำว่า ให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำหรือสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งการล้างมือช่วยได้ดีมาก 2.ช่วยกันประดิษฐ์หน้ากากกันเอง ซึ่งเรายืนยันว่า คนปกติทั่วไปที่ไปยังพื้นที่แออัด มีคนหนาแน่นให้สวมหน้ากากผ้า ส่วนหน้ากากอนามัยยังเหมือนเดิมคือ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น หากคนไทยช่วยกันประดิษฐ์หน้ากากผ้าคนละ 3 ชิ้น คือ สวม สำรอง ซัก รวมแล้วคนไทยทุกคนช่วยกันก็จะได้หน้ากากผ้า 201 ล้านชิ้น ก็จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากอนามัยใช้ได้ ไม่ประสบปัญหาขาดแคลน ซึ่งหากทำตรงนี้ได้หน้ากากอนามัยก็จะไม่ขาดแคลน และราคาจะถูกลง

“หน้ากากผ้า อย่างผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู กลุ่มนี้สามารถนำมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าได้ ยิ่งซักยิ่งเล็ก เพราะใยจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน โดยไวรัสโควิด-19 ขนาดอยู่ที่ 5 ไมครอน ซึ่งไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ถึง 54-59% ถือว่าเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ใช้ในพื้นที่แออัด โดยเรานำมาใช้และซักใหม่ได้ การจะเข้าถึงหน้ากากผ้าได้ด้วยการประดิษฐ์ง่าย ๆ ซึ่งกรมอนามัยได้ทำคลิปวิดีโอสอนเอาไว้ จึงขอเชิญชวนทุกคนหันมาทำหน้ากากผ้ากันเองดีกว่า โดยกรมอนามัย จับมือกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เชิญชวนประชาชน มาเป็นจิตอาสาร่วมกันประดิษฐ์หน้ากากผ้ากัน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว