ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ร่วมประชุมหารือ เพื่อพัฒนาการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในหัวข้อ การจัดการเชื้อดื้อยา โดยการควบคุมการติดเชื้อและใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยร่วมกับชมรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล และคณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อระดับชาติ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน โดยมีหัวข้อเรื่อง คือ การจัดการเชื้อ ดื้อยาโดยการควบคุมการติดเชื้อและใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี

เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance) เป็นเชื้อโรคที่ยาไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อได้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาทำได้ยาก ต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น นอนโรงพยาบาลนานขึ้น อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การวิจัยค้นคว้ายาปฏิชีวนะตัวใหม่ไม่เพียงพอและไม่ทันต่อความต้องการ จากรายงานเรื่องการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) พบประชากรโลกเสียชีวิตสูงถึง 7 แสนรายต่อปี ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน ปี 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจจะสูงถึง 10 ล้านราย ส่วนในไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพปีละกว่า 1 แสนราย เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพกว่า 3 หมื่นราย ทำให้สูญเสียค่ารักษาติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น การดื้อยาต้านจุลชีพ จึงเป็นภัยคุกคามทางการแพทย์ ดังนั้น สหประชาชาติ ได้กำหนดให้ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นวาระโลกที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ ต้องร่วมมือกันเร่งดําเนินการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และห้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาเป็นพื้นฐานสำคัญ สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง มีกรรมการระดับชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ที่ปรึกษากรมควบคุมโรคและคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลในประเทศไทย ดำเนินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 ที่ได้พัฒนาทางด้านการบริหาร ด้านวิชาการ และการบริการมาโดยตลอด ทำให้ลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลลงจาก 11.7 % (ปี 2531) เป็น 4.2 % (ปี 2561) และยังช่วยลดการติดเชื้อลง 1 ล้านราย ต่อปี ทำให้ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อลดลง 1 แสนรายต่อปี ทำให้ลดค่าใช้จ่ายทางด้านการใช้ยาต้านจุลชีพลงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้มีความมั่นใจ มีขวัญกำลังใจและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น

การประชุมสัมมนาระดับชาติครั้งนี้ มีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ออสเตรเลีย และผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ในการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ประมาณ 700 คน พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำเสนอผลงานทางวิชาการ นวัตกรรม ถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถนำไปปฏิบัติได้ ทั้งนี้ โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้จัดไว้ในกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นโรคที่พบมาก อัตราตายสูง เสียค่าใช้จ่ายมาก จึงต้องพัฒนาการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ โดยอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน