ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายต้านเหล้า จวกปาร์ตี้แข่งดื่มเบียร์ทำลูกค้าเสียชีวิต จี้เอาผิดเจ้าของธุรกิจน้ำเมาให้ถึงที่สุด ด้านนักวิชาการ ชี้เอาผิดได้ทั้งอาญาและทางแพ่ง

นายคำรณ ชูเดชา

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณีข่าวเหตุการณ์ปาร์ตี้น้ำเมาของสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ได้มีการจัดแข่งขันดื่มเบียร์ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมแข่งขันเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต ครอบครัวและเครือญาติ เราไม่อยากเห็นความสูญเสียลักษณะนี้เกิดขึ้นกับคนอื่นอีกต่อไป และขอประณามธุรกิจที่นำกิจกรรมแข่งดื่มแห่งความตาย มาใช่ในการส่งเสริมการขายเบียร์สุรา เพราะกิจกรรมแข่งดื่มเบียร์หรือสุรา เป็นกิจกรรมที่อันตรายมาก หากดื่มเบียร์ในปริมาณมากๆ ในเวลาสั้นๆ เพราะที่ผ่านทางเครือข่ายฯได้รับร้องเรียนเรื่อง กิจกรรมแข่งขันดื่มเบียร์ตามสถานบันเทิง บ่อยครั้ง ทั้งมีการโฆษณา เชิญชวนให้ลูกค้ามาร่วมแข่งขันรวมทั้ง มักพบเห็นพฤติกรรมการแข่งขันกันเองในงานเลี้ยง ดื่มแบบช็อตต่อช็อตบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

“กรณีที่ผับบาร์ผู้ประกอบการ จัดดื่มเบียร์ถือว่าเป็นโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย ตั้งใจสร้างความท้าทายให้ลูกค้า และเริ่มนิยมและแพร่หลายมากขึ้น เป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 มาตรา 30(4) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการการชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30(5) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น แจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวอย่าง หรือจูงใจให้บริโภค รวมถึงการกำหนดบังคับซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับรวมทั้งอาจผิดมาตรา32 เรื่องการโฆษณาตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปีปรับไม่เกิน 500,000ปรับ รวมถึงปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง” นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเด็นการแข่งขันดื่มเบียร์สุรา ยังขาดความจริงจัง จากกระทรวงสาธารณะสุขในการบังคับใช้กฎหมาย หรือสื่อสารต่อสาธารณะว่า เป็นพฤติกรรมทั้งที่เป็นพฤติกรรมอันตรายมาก และยังพบเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสถานบริการและสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลายอย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ข้อเรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด ต้องเท่าทันการตลาดฉ้อฉลซึ่งเดิมพันกับชีวิตคนแบบนี้”

ด้าน ผศ.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วกรณีนี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่จัดแข่งขัน จะต้องรับผิดในประเด็นที่สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตได้ซึ่งจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายถ้าหากในทางแพ่งเป็นการกระทำละเมิดของร้านซึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายและควรทำให้เป็นแบบอย่างในการบังคับใช้กฎหมายจริงจังเพื่อป้องปรามมิให้เกิดความสูญเสียจากกิจกรรมสุ่มเสี่ยงแบบนี้อีก