ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ตรวจสอบยาลดความอ้วนที่ได้จากการจับกุมในจังหวัดกาฬสินธุ์และปทุมธานี พบเป็นของปลอมทั้งสิ้น จึงขอเตือนสถานพยาบาลที่ต้องการซื้อยาลดน้ำหนักเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยให้สั่งซื้อจาก อย. โดยตรงเพราะเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายในประเทศเพียงผู้เดียว สำหรับผู้ป่วยไม่ควรสั่งซื้อผ่านออนไลน์ เสี่ยงได้รับยาปลอมส่งผลถึงชีวิต เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. อยู่ระหว่างร่างกฎข้อบังคับเพิ่มเติมให้สถานพยาบาลที่รับอนุญาตต้องตรวจประเมินความจำเป็นก่อนสั่งจ่ายยา

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวการจับกุมโครงข่ายผู้ผลิตยาลดยาลดน้ำหนักปลอมในจังหวัดกาฬสินธุ์และปทุมธานี ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจสอบยาลดความอ้วนของกลางที่ได้จากการจับกุมนำมาเปรียบเทียบกับยาของจริงที่ อย. จำหน่าย พบว่า ยาดังกล่าวมีสีเม็ดเป็นสีเดียวกัน ลักษณะเม็ดคล้ายกัน ขวดขนาดบรรจุยา มีขนาด 1,000 เม็ด ซึ่งไม่ใช่ขนาดที่ทาง อย.จำหน่าย ในส่วนของฉลาก เอกสารกำกับยา ขวดและกล่องบรรจุยามีการทำเลียนแบบของจริงได้ใกล้เคียงกัน และ Lot ยาปลอมที่จัดจำหน่ายบาง Lot เป็นตัวเลข Lot ยาที่ตรงกับยาที่ อย.จำหน่ายจริง แต่วันหมดอายุของยาเป็นคนละช่วงเวลากัน ซึ่งผลจากการตรวจสอบ ยาดังกล่าวล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น

จึงขอเตือนไปยังสถานพยาบาลที่มีความประสงค์จะซื้อยาลดน้ำหนักเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยของตน ขอให้สั่งซื้อจากกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยตรง เพื่อให้ได้รับยาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก โดยตามกฎหมาย อย. เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายในประเทศแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทั้งนี้ สถานพยาบาลต้องมีใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เฟนเตอมีน) สถานพยาบาลใดที่ซื้อยาลดน้ำหนักจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ อย. ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 2 ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะได้รับโทษที่รุนแรง

สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาลดน้ำหนัก เพื่อความปลอดภัย ควรตรวจรักษาโรคอ้วนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับยาลดน้ำหนักจากสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และไม่ควรซื้อผ่านระบบออนไลน์ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจได้รับยาปลอมส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากยาปลอมส่วนใหญ่มักลักลอบผสมไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 จัดเป็นยาอันตราย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการร่างกฎข้อบังคับเพิ่มเติมให้แก่สถานพยาบาลที่รับอนุญาตขายยาลดน้ำหนัก ต้องตรวจรักษาและประเมินความจำเป็นก่อนสั่งจ่ายยาเฟนเตอมีน โดยละเอียดอย่างรอบคอบตามมาตรฐานวิชาชีพและการประกอบโรคศิลปะ รวมทั้งต้องดูแลรับผิดชอบอาการไม่พึงประสงค์ที่ป้องกันได้ (Preventable ADR) และผลกระทบจากการใช้ยาเฟนเตอมีนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยาดังกล่าว