ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชงรองนายกรัฐมนตรี คุมคณะกรรมการขับเคลื่อนใช้ประโยชน์กัญชาการแพทย์ เพื่อนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เป็นเอกภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงทิศทางเรื่องกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้กันมาก อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็เป็นอีกหน่วยงาน ในหลายหน่วยงานที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างโครงการระยะแรกของ อภ. ในการดำเนินการปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิด เพื่อเป็นกัญชาเมดิคัลเกรด นับเป็นการดำเนินการที่ดีมาก และเป็นเรื่องดีที่ อภ.เตรียมแผนที่จะร่วมมือกับเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งตรงนี้อยากให้มีหลักเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจนเน้นความร่วมมือของทุกฝ่าย

“ประเด็นต่อมาที่ไม่ควรมองข้าม มีอยู่ 4 ประเด็น คือ 1. ระดับการเข้าถึงการใช้ยากัญชาของผู้ป่วย 2. ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มแรกจนสุดท้าย 3.ลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา และ 4.ความปลอดภัยของสาธารณะ โดยทั้งหมดจะขับเคลื่อนได้ ทุกฝ่ายต้องหันมาหาทางออกร่วมกัน ทำงานให้เกิดความเป็นเอกภาพทางนโยบายให้ได้ ซึ่งท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรองนายกรัฐมนตรี เห็นว่ากำลังเดินหน้าเรื่องนี้อยู่ โดยใน 4 ประเด็นหลักจะมีหลายทางเลือกที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้สามารถทำให้บรรลุเป้าหมาย เช่น หากช่วงเริ่มต้นให้ผู้ป่วยปลูกกัญชาเองก็ต้องมาหาทางออกว่า จะมีมาตรการอย่างไรในเรื่องการควบคุมความปลอดภัย และไม่ให้เล็ดลอดออกนอกระบบ เป็นต้น” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว

อาจารย์ประจำภาควิชาการเภสัชวิทยา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือระดับนโยบาย อย่างในต่างประเทศ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา หรือรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงแรกก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้โดยเบื้องต้นจะเน้นผลิตภัณฑ์กัญชาที่เรียกว่า Urban Cannabis No quality control เพื่อให้คนได้เข้าถึง แต่ก็จะมีระบบในการควบคุมอยู่ ซึ่งเรื่องนี้หากไทยจะทำก็ต้องอาศัยนโยบาย เบื้องต้นอาจต้องมีเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกัน

เมื่อถามว่าสำหรับหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นเอกภาพควรเป็นหน่วยงาน หรือคณะกรรมการชุดไหน ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า น่าจะเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะเป็นภาพใหญ่ ซึ่งจะได้ทำงานตอบโจทย์ทั้ง 4 ประเด็นทั้งหมดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นช่วงแรกของการผลิตยากัญชาที่หลายคนกังวลว่าจะไม่เพียงพอ มีบางกลุ่มมองว่าใต้ดินยังมีใช้อยู่ ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า จริงๆ ไม่ควร เนื่องจากหากให้ใช้ใต้ดิน ก็เป็นการผลักให้พวกเขาทำผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ก็ควรใช้ช่องทางทางกฎหมายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นที่มาว่า ควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้