ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อแนะนำแนวทางปลดล็อกประเทศอย่างไรให้เอาอยู่? เมื่อต้องสู้กับโควิด-19 ต่อไป ของ ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในบทความก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ เสนอแนวทางบริหารจัดการแบ่งตามกลุ่มและประเภท เพื่อความชัดเจนและประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการระบาด

ดร.ภก.อนันต์ชัย ย้ำว่า การเปิดเมืองด้วยมาตรการควบคุมแบบเดียวกันทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การวางมาตรการเปิดเมืองจะพิจารณาเป็นแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ไป ตาม ‘มาตรการ แดง-เหลือง-เขียว’ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่  1. Reproduction number: โดยประมาณจากค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่นั้นๆ หากพื้นที่ใดมีการแพร่ระบาดของเชื้อลดลงในระดับต่ำ มีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นประปราย ไม่เป็นกลุ่มใหญ่และสามารถติดตามที่มาของเชื้อได้ ก็จะสามารถคลายล็อคจากพื้นที่สีเหลืองเป็นพื้นที่เขียวได้ ในทางกลับกัน หากภายหลังการเปิดพื้นที่แล้วพบว่าการระบาดระลอกใหญ่ซ้ำอีก พื้นที่นั้นก็จะถูกปิดเมืองกลับเข้าสู่พื้นที่สีแดงอีกครั้ง

2. Risk-based Area Evaluation: โดยพิจารณาจากเช็คลิสต์ 4 ประการร่วมกัน

1. ข้อมูลพื้นที่ - ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการควบคุมโรคของพื้นที่นั้นๆ ได้แก่ โครงสร้างและขนาดของจังหวัด/พื้นที่นั้น ลักษณะโครงสร้างและการกระจายประชากร จำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนไร่นา บ้านแต่ละหลังมีระยะห่างกันมาก ประชาชนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน และมีประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงอายุไม่มากนัก จัดเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ สามารถผ่อนปรนมาตรการควบคุมได้มากกว่าพื้นที่ที่เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น

2. การสำรวจสถานะทางภูมิคุ้มกันของประชาชนในพื้น ที่สามารถทำได้การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อ ได้แก่ แอนติบอดี้ IgM (Immunoglobulin M) และ IgG (Immunoglobulin G) ระดับของภูมิคุ้มกันของประชาชนในพื้นที่ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุนแรงของการระบาดของเชื้อ ว่ามีสถานการณ์ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยถ้าพบประชากรในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ IgG เป็นจำนวนมาก ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความมั่นใจในการที่จะปรับการคลายล็อคจากพื้นที่จากสีเหลืองให้เป็นสีเขียวได้มากยิ่งขึ้น

3. แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ต้องกำหนดมาตรการควบคุมโรค ที่เหมาะสมกับบริบทและความเสี่ยงในพื้นที่นั้นๆ ซึ่ง กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมของมาตรการ กับสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่ตัวอย่างมาตรการควบคุมโรคดังต่อไปนี้

3.1 มาตรการป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Measures): การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการการป้องกันโรค เช่น การล้างมืออย่างถูกวิธี การสวมหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม

3.2 มาตรการจัดการสภาพแวดล้อม (Environmental Measures): การทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น การกำหนดให้ประชาชนพกช้อนส้อม แก้วน้ำเฉพาะบุคคลในการออกไปรับประทานอาหารในพื้นที่ส่วนรวม และการปรับโครงสร้างสถานที่ เช่น การจัดระบบการระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในอาคารสถานที่ การใช้ฉากกั้นในโรงอาหาร

3.3 มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing Measures): มาตรการรองรับการกักกันสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การแยกตัวเพื่อติดตามอาการตนเองและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มาตรการดูแลความปลอดภัยที่ทำงาน เช่น การให้ทำงานจากที่บ้าน การคาบเกี่ยวเวลาทำงาน หรือ การปรับโครงสร้างสถานที่ทำงาน เป็นต้น

3.4 มาตรการควบคุมความปลอดภัยในการจัดงานสำหรับพื้นที่ที่มีคนแออัดจำนวนมาก เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในงานประชุม เป็นต้น

3.5 มาตรการควบคุมการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Travel-related Measures): มีคำแนะนำในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อสำหรับนักเดินทาง และส่งเสริมให้ผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อเข้ารับการตรวจอย่างทั่วถึง การเดินทางระหว่างประเทศควรพิจารณาอนุญาตเมื่อสถานการณ์ระบาดในต่างประเทศดีขึ้น และยังคงใช้มาตรการคัดกรองและการกักกันที่เหมาะสมสำหรับนักเดินทางขาเข้า การเดินทางภายในประเทศ จะต้องประเมินก่อนว่าจังหวัดใดมีการแพร่เชื้อในระดับต่ำที่ยอมรับได้ และควรต้องจำกัดจำนวนนักเดินทางจำนวนน้อย ๆ ก่อน สำหรับด่านชายแดนควรปิดต่อไปก่อนในระยะนี้ และอาจจะมีการหารือจัดทำมาตรการความร่วมมือควบคุมโรคข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

4. ศักยภาพด้านการแพทย์และ สาธารณสุข (Health System Performance): เป็นการประเมินศักยภาพในการคัดกรองและรองรับผู้ป่วยในพื้นที่นั้นๆ รวมไปถึงประสิทธิภาพของระบบการค้นหา เฝ้าระวัง สอบสวนโรค และการสุ่มตรวจเชื้อในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถของห้องปฏิบัติในการตรวจเชื้อ ความสามารถของสถานพยาบาลในการรองรับปริมาณผู้ป่วย การเข้าถึงยาที่ใช้ในการรักษาอย่างเหมาะสม และการมีอยู่ของอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ดังนั้น ในกรณีที่พบว่าจังหวัดใดไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หรือพื้นที่ใดไม่มีการสามารถตรวจระดับภูมิคุ้มกันได้ พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่จัดเป็นพื้นที่สีเขียว และไม่สามารถทำการคลายล็อคเปิดเมืองแบบเต็มรูปแบบได้