ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมรพศ./รพท. ชี้ปัญหารอคิวนานมีหลายปัจจัย คอขวดใหญ่คือ รอแพทย์ตรวจ รอผลเลือด ส่วนจ่ายยาเป็นส่วนหนึ่ง รอ สธ.เรียกระดมความเห็นถกปัญหาภาพรวม ชี้ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ด้าน สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) หนุนนโยบาย แต่ต้องมีระบบติดตามผู้ป่วย

 

ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยได้ประกาศภายในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า ต้องลดการรอคิวการรับบริการในโรงพยาบาลให้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และพบแพทย์ประมาณ 10-15 นาที ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่ต้องรอรับยาภายในโรงพยาบาล แต่ให้รับใบสั่งยาจากแพทย์และไปรับยาที่ร้านขายยาที่มีการประสานเป็นเครือข่ายไว้ ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งเห็นด้วยและกังวลกับนโยบายนี้

นพ. โมลี วนิชสุวรรณ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ขณะนี้คงยังไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากนัก เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียด เห็นเพียงข่าวเท่านั้น ซึ่งหากทำจริงก็จะต้องมีนโยบายออกมา และจะต้องมีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือว่า จะดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสมและส่งผลดีต่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าหากทำจริงก็จะมีการเชิญทางชมรมฯ และกลุ่มอื่นๆ ถึงตอนนั้นหากทราบรายละเอียดก็จะสามารถตอบคำถามได้มากกว่านี้

นพ.โมลี วนิชสุวรรณ

“ผมเชื่อว่านโยบายในเรื่องให้แพทย์จ่ายใบสั่งยาและให้ประชาชนไปรับยาร้านขายยาที่เป็นเครือข่ายนั้น เป็นเพียงหนึ่งในทางออกอื่นๆที่จะช่วยลดปัญหาการรอคิวนานในโรงพยาบาล เพราะจริงๆ ปัญหาที่เป็นคอขวด คือ การรอแพทย์ตรวจวินิจฉัย และการรอผลตรวจเลือด ซึ่งการรอรับยาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ต้องอาศัยหลายๆวิธี ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอยู่ ทั้งคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC (Primary Care Cluster) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่เปิดบริการให้ประชาชนกลุ่มอาการไม่รุนแรงมากก็จะสามารถเข้ารับบริการได้ เป็นการกระจายการให้บริการ หรือแม้แต่เปิดคลินิกนอกเวลาภายในโรงพยาบาล แต่การเปิดคลินิกจะให้บริการได้ในกลุ่มข้าราชการ เพราะอาจจ่ายส่วนต่างได้บางส่วน และผู้ที่ยินดีจ่ายเอง เป็นต้น แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ต้องมาร่วมกันหารือว่าจะมีรายละเอียดในการดำเนินการอย่างไร หากมีการเดินหน้านโยบายดังกล่าว” นพ.โมลี กล่าว

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล อดีตประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าวว่า กำลังศึกษาแนวคิดนี้ว่า จะลดปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเรื่องนำใบสั่งยาของแพทย์ไปรับยาที่ร้านขายยานั้น ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการ อย่างอังกฤษ ภายในโรงพยาบาลจะเปิดแต่การให้บริการทางการแพทย์เท่านั้น และให้ใบสั่งยานอกโรงพยาบาลแทน ขณะที่ญี่ปุ่น ก็จะมีระบบจัดส่งยา ทั้งส่งไปรษณีย์ หรือร้านขายยาก็มี ซึ่งหากประเทศไทยจะทำก็ต้องจัดหาระบบในการทำเรื่องนี้ให้รัดกุม อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการลดการรอคิว ยังมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขร่วมกันทั้งหมด อย่างทุกวันนี้แพทย์ 1 คน ต้องตรวจคนไข้เป็น 100 คนต่อวันก็มี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขเรื่องนี้อยู่ อย่างการกระจายคนไข้ที่อาการอาจไม่รุนแรงมาก ไปรับบริการยังโรงพยาบาลชุมชนแทน โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลใหญ่ แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนก็มีคนไข้มารับบริการเยอะเช่นกัน

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องมีแพทย์เพิ่มหรือไม่ นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นทั้งหมด แต่ต้องพิจารณาแต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญต้องสร้างนำซ่อม โดยเน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค แม้จะมีการดำเนินการแล้วแต่ก็ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดทั้งปวงต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้ทั้งระบบ

ด้าน ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การให้ร้านยาเป็นจุดกระจายการรับยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และขณะนี้้ร้านยาส่วนใหญ่ก็จะได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อยู่แล้ว นอกจากนี้ อนาคตร้านยาที่จะได้รับใบสั่งยาก็จะต้องมีสภาวิชาชีพเป็นผู้รับรองก่อนจึงจะเปิดให้บริการได้ จึงถือว่ามีความปลอดภัย ทั้งนี้ ประชาชนยังจะได้รับการติดตามการใช้ยาอย่างเหมาะสม และมีเภสัชกรช่วยติดตาม อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการในโรงพยาบาลโอกาสในการได้รับการติตตามในชุมชนจะค่อนข้างยาก ดังนั้น สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ประกาศถือเป็นจุดหนึ่งที่จะนำบุคคลสาธารณสุขที่กระจายอยู่ในชุมชนมาขึ้นทะเบียนให้ชัดเจนและให้การรับรองในการติดตามผู้ป่วย การจัดระบบนี้จะไม่ใช่เพียงการมารับยาในร้านยาอย่างเดียว แต่จะมีการติดตามการใช้ยา ติดตามข้อมูลผู้ป่วย ระหว่างร้านยา โรงพยาบาล และบ้านของประชาชน เพราะร้านยาจะอยู่ใกล้ชุมชน ใกล้บ้าน

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ หากผู้ป่วยได้รับประทานยาที่มีผลต่อผู้ป่วย ก็จะสามารถติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยให้เหมาะสมได้ และปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วย ระหว่างร้านขายยา โรงพยาบาล ได้ชัดเจนขึ้น และด้วยทิศทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ออกแบบแอปพลิเคชันให้ผู้ป่วยมีข้อมูลของตัวเอง สามารถไปแสดงตามร้านขายยา โรงพยาบาลได้อีกด้วย

“ถือเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งเราทำความเชื่อมโยงระหว่างรัฐ เอกชน และตัวผู้ป่วยเองตระหนักรู้ จะทำให้มูลค่าในการบริโภคยาเกินความจำเป็น และลดความเสี่ยงจากการใช้ยาลดลงได้ ทั้งยังถือเปนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลได้ ซึ่งสภาวิชาชีพ แกนนำสภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชนฯ ก็ยินดีและสนับสนุน โครงการนี้ให้มีการสร้างมาตรฐานและยกระดับการให้บริการประชาชนทั่วถึงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรูปแบบ ทั้งในต่างจังหวัดที่มีความเข้มแข็งของชุมชนกับร้านขายยา และในชุมชนเมืองใหญ่ อย่าง กทม.ที่มีการนำร้านขายยาเชิงสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ นำร้านยามาช่วยคัดกรองโรคเรื้อรังเพื่อแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้เร็วขึ้น ให้ร้านยาเป็นจุดเข้าถึงในการให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยาที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และการให้ร้านยาเป็นจุดกระจายยาคุมกำเนิดในผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งถือเป็นโอกาสและการเปลี่ยนแปลงที่ดี” นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง