ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คร. จับมือ ม.กรุงเทพธนบุรี สภาการสาธารณสุขชุมชน จัดอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข รพ.สต. ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี มีผู้เข้าร่วมกว่า 7,500 คน  

วันที่ 29 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล กรมควบคุมโรค นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานกิจกรรมเปิดตัวขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมี รศ.ดร.ทนพญ.วรรณีย์ จิรอังกูรสกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้แทนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เข้าร่วมแสดงเชิงสัญลักษณ์ขับเคลื่อนกิจกรรมฯ

นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรมควบคุมโรค ได้ดําเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์          และกําจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี มาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาคุณภาพด้านการป้องกัน ดูแลรักษา ส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี พร้อมสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน ซึ่งการดําเนินงานดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ 

โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขใน รพ.สต. ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดชุมชน ให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคกรมควบคุมโรค จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ยื่นขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และสภาการสาธารณสุขชุมชนในฐานะผู้อนุมัติหน่วยคะแนนศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานดังกล่าว โดยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สำหรับ รพ.สต. ในช่วง เดือนพฤษภาคม 2567 นี้ โดยมีผู้ลงทะเบียนอบรมออนไลน์แล้วกว่า 7,500 คน 

นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพราะทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ประชาชนมีสุขภาพที่ดี การอบรมพัฒนาศักยภาพครั้งนี้ มุ่งหวังให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถนําความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการดําเนินงานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นําไปสู่การป้องกันและรักษาที่ถูกต้อง ลดการเจ็บป่วย การเสียชีวิตจากโรค ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน