ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น โชว์ศักยภาพยกระดับบริการผ่าตัดแบบ One Stop Service ทั้งการผ่าตัดส่องกล้อง ผ่าตัดแผลเล็ก และผ่าตัดวันเดียวกลับ พร้อมย้ำให้บริการผู้ป่วยบัตรทองด้วยมาตรฐานเดียวกับสิทธิข้าราชการ ด้านผู้ป่วยปลื้มนัดผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีใช้เวลาแค่ 3 วัน ไม่ต้องรอคิวนานนับเดือน

พญ.ดวงพร อัศวราชันย์

พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมแพ ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัด ในการลดความแออัดจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ดูแลโซนตะวันตกของจังหวัดและรอยต่อรวม 9 อำเภอ (พื้นที่รอยต่อ จ.เพชรบูรณ์ จ.เลย จ.ชัยภูมิ) โดยได้รับการยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก พ.ศ.2558 และเพิ่มขนาดเตียงเป็น 250 เตียง ในปี พ.ศ.2562 ทำให้มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา มีศักยภาพช่วยแบ่งเบาโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ปัจจุบันมีเตียงที่ใช้งานจริงจำนวน 350 เตียง มีป่วยนอกมากกว่า 28,000 คน/เดือน ผู้ป่วยใน 1,800 คน/เดือน ให้บริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบและรับเคสส่งกลับจากโรงพยาบาลขอนแก่น ตลอดจนช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อน รวมทั้งเคสยากๆ บางส่วนอีกด้วย

พญ.ดวงพร กล่าวว่า สัดส่วนประชาชนที่มาใช้บริการกว่า 73% คือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งประชาชนยังเข้าใจผิดว่าสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการชั้นสอง ขอยืนยันว่าสิทธิบัตรทองไม่ใช่คนไข้ชั้นสอง โรงพยาบาลให้การบริการที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม

"คนไข้ในเขต อ.ชุมแพ และอำเภอใกล้เคียงเดินทางไปโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นลำบาก และกว่า 20% ยังเป็นผู้สูงอายุ การจะดูแลคนไข้ได้เต็มที่เราก็ต้องเพิ่มศักยภาพ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้เรามีแพทย์เพิ่มขึ้น พัฒนาการผ่าตัดจนยกระดับบริการ “One Stop Service บริการแบบครบวงจร ใกล้ใจ” สามารถช่วยโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นได้มากพอสมควร ส่วนทิศทางในอนาคตเราอยากเพิ่มศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็น Excellence Center ด้านศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร การผ่าตัดแบบแผลเล็ก และการผ่าตัดแบบไปกลับวันเดียว" พญ.ดวงพร กล่าว

ด้าน นพ.พศวีร์ เผ่าเสรี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพบริการ โรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า โรงพยาบาลมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางครบทุกสาขา รวม 36 คน ในระยะหลังมานี้โรงพยาบาลรับเข้าผู้ป่วยมากกว่าส่งต่อ แสดงว่าศักยภาพดีขึ้นในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ รวมทั้งรับส่งต่อจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเพื่อลดความแออัดประมาณ 400-500 เคส/ปี

สำหรับบริการ One Stop Service ใกล้บ้านใกล้ใจ เริ่มต้นจากสาขาจักษุ ซึ่งมีการรับผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก แล้วขยายเป็นสาขาโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต ศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ และโรคมะเร็ง โดยสาขาจักษุ โรงพยาบาลชุมแพเป็นศูนย์กลางที่ผ่าต่อกระจกได้จำนวนมาก ส่วนผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น โรคหลอดเลือดสมองสามารถเข้าถึงยาขยายหลอดเลือดประมาณ 12% และระยะเวลาการเข้าถึงยาเร็วขึ้น สาขาโรคไตมีอายุรแพทย์โรคไต 2 ท่าน รับวาง CAPD ได้ทั่ว จ.ขอนแก่น ถ้าผู้ป่วยคิวช้าคิวนาน มาที่โรงพยาบาลชุมแพก็จะได้วางสายล้างไตเร็วขึ้น

ในส่วนของงานศัลยกรรม สิ่งที่โรงพยาบาลเพิ่มศักยภาพ เช่น การพัฒนาหน่วยตรวจวินิจฉัยและการรักษาด้วยการส่องกล้อง ให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ บริการผ่าตัดแบบแผลเล็ก การผ่าตัดไทรอยด์โดยไร้แผลเป็น ในกลุ่มโรคมะเร็งก็มีบริการศัลยกรรมในกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ในปี 2562 โรงพยาบาลยังจัดโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ให้กับประชาชนใน อ.ชุมแพ และพื้นที่ใกล้เคียง 12 อำเภอ พบผู้ที่มีความเสี่ยงและรับบริการส่องกล้อง 211 ราย ผลการตรวจพบเป็นมะเร็ง 7 ราย ได้รับการผ่าตัดรักษาแล้ว 5 ราย และเป็นเนื้องอก 83 ราย

นพ.เกียรติตะวัน กิ่งแฝง

นพ.เกียรติตะวัน กิ่งแฝง หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า กลุ่มงานศัลยกรรมของโรงพยาบาลชุมแพให้บริการเกือบทุกโรคของงานศัลยกรรม แต่ที่เน้นเพิ่มขึ้นมาคือการพัฒนางานผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง การผ่าตัดแผลเล็ก และการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลขอนแก่น ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งการเดินทางและค่ากินอยู่อื่นๆ

ทั้งนี้ กรณีโรคภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยเข้าผ่าตัดอันดับแรก คือ ไส้ติ่งอักเสบ รองลงมาคือ นิ่วในถุงน้ำดี ทั้งถุงน้ำดีอักเสบ ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ส่วนกรณีไม่ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยรับการรักษา ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดเนื้องอกลำไส้ใหญ่ที่การผ่าตัดส่องกล้องค่อนข้างได้ผลดี นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดก้อนเนื้อไทรอยด์ แก้ไขภาวะไส้เลื่อนหน้าท้องและขาหนีบ รวมถึงผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นต้น โดยโรงพยาบาลได้พัฒนาความรู้เทคนิคการส่องกล้องรวมถึงทีมงานพยาบาลช่วยส่องกล้อง ทำให้คนไข้ในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการดูแลและรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นมะเร็งพบบ่อยในหญิงไทย ให้บริการตั้งแต่ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องแมมโมแกรม การผ่าตัดเต้านม คนไข้ผ่าที่ตัดเสร็จ ถ้าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดก็จะดูแลต่อโดยศัลยแพทย์ แต่ถ้าต้องฉายรังสีจะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

นางสมบูรณ์ โสภาคุณ

ด้าน นางสมบูรณ์ โสภาคุณ อายุ 64 ปี ประชาชนในเขต อ.หนองเรือ หนึ่งในผู้รับบริการผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า ตนป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีโดยตรวจพบตั้งแต่ปี 2560 แต่ตอนนั้นยังไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัด จนกระทั่งปีนี้ไปเข้าโรงพยาบาลหนองเรือและถูกส่งตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น แต่เนื่องจากตนสะดวกรับการผ่าตัดในเดือน ก.ค. เพราะหลังจากนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย การจะรับบริการที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นต้องรอคิวผ่าตัดนาน 2-3 เดือน จึงขอย้ายมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมแพแทน

"เขาบอกว่านิ่วเต็มถุงน้ำดีเลย แต่เราไม่อยากรอคิวนาน เราเป็นชาวไร่ชาวนา ต้องเก็บเกี่ยวข้าว ตัดอ้อย พอดีกับมีญาติคนหนึ่งมาทำงานใน อ.ชุมแพ และแนะนำว่าถ้าจะผ่าตัดอะไรให้ลองมาที่นี่ดูก่อน ก็เลยมาผ่าที่นี่แทน ตอนแรกก็ไม่มั่นใจคุณหมอ คิดว่าหมอจะเก่งเทียบเท่าโรงพยาบาลขอนแก่นหรือไม่ แต่พอมาแล้วประทับใจมาก มา 3 วันผ่าตัดเลย วันแรกตรวจเสร็จ นัดนอนโรงพยาบาลวันที่ 29 ก.ค. พอวันที่ 30 ก.ค. ก็ผ่าตัดเลย ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ ผ่าตัดออกมามีนิ่ว 78 ก้อน แต่หลังผ่าแล้วไม่มีอาการอะไรเลย โรงพยาบาลก็สะอาด เดินทางสะดวกสบาย ใกล้บ้าน ที่จอดรถสะดวก รู้สึกสบายใจที่มารับบริการที่นี่" นางสมบูรณ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาโรงพยาบาลชุมแพ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้เป็น Smart City ซึ่งจะมี 2 ส่วนคือเมืองเดิม (เขตเทศบาลนครขอนแก่น) และเมืองใหม่อีก 6 อำเภอ โดย อ.ชุมแพ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

"ในส่วนของ อ.ชุมแพ อยู่ทางทิศตะวันตก เราคิดว่าเพื่อลดความแออัดของผู้คน และให้เขาได้มีโอกาสขยายการบริการให้พี่น้องประชาชนละแวกนั้นได้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น ก็จะวางตำแหน่งการพัฒนาเมืองใหญ่ไว้ที่ อ.ชุมแพ ตอนนี้ในเขตเทศบาลนครเราพัฒนาเป็น Smart Cityได้รุดหน้ามากทีเดียว อีก 2 เดือนจะเป็นจุดทดสอบ 5G ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ Telemedicine เราคิดว่าจะให้ทางโรงพยาบาลชุมแพเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุขที่สำคัญและบอกให้เขาพัฒนาตัวเองให้เป็น Excellence Center ให้ได้ ตลอดจนพัฒนารูปแบบบริการทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้คนในละแวกนั้นไปใช้บริการ ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดของคนที่จะเข้ามาในเขตเมือง" นายสมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อ.ชุมแพ จะพัฒนาด้านการแพทย์อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะการเป็น Smart City จะต้องมีองค์ประกอบ 7 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Smart Mobility, Smart Community, Smart Economy, Smart Environment, Smart Governance, Smart Building และ Smart Energy มันก็ต้องพัฒนากันต่อไปด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง