ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา แจงข้อเท็จจริง “กัญชา-กัญชง” อะไรใช้ประโยชน์ด้านไหน ย้ำอาหาร-เครื่องสำอาง ต้องเป็นเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ขณะที่หมอจุฬาฯ ชี้กัญชงมีโอเมก้า 3 ป้องกันเส้นเลือดตีบได้

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงการออกประกาศกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) และประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า กัญชากัญชงสามารถใช้ได้ ไม่ใช่ยาเสพติด และยังนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง นอกเหนือจากประโยชน์ทางการแพทย์ จนทำให้มีการแชร์กันผิดๆในสังคมออนไลน์นั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องย้ำว่า กัญชาและกัญชง ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่มีการยกเว้นสารบางชนิดในพืชทั้งสองชนิดนี้ ที่สำคัญคือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็มีฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดผลต่อจิตและประสาท และสารแคนนาบิไดออล หรือ CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์มากแต่ไม่มีผลต่อจิตและประสาท ซึ่งพืชกัญชง (Hemp) กฎหมายในปัจจุบันเอื้อให้มีการใช้ประโยชน์จากเส้นใยเป็นหลัก และในระยะ 3 ปีแรกก็มีเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่จะขออนุญาตได้ ซึ่งเห็นว่าไม่เพียงพอ จึงเปิดกว้างเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นให้คุ้มค่า และต้องให้ประชาชน เกษตรกร สามารถขออนุญาตได้ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังร่างกฎกระทรวงเพื่อปรับแก้อยู่

“อย่างการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอาหารและเครื่องสำอาง ก็หมายถึงกัญชง เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ และน้ำมันจากเมล็ดกัญชงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ว่าทำได้เลย ต้องรอการปรับแก้กฎกระทรวงก่อน อย่างการปลูกก็ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กำหนด เนื่องจากต้องมีเรื่องสัดส่วนของสารซีบีดี และทีเอชซีตามกำหนด โดยจะมีการหารือและจัดทำร่างกฎกระทรวงขึ้น ซึ่งจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่ขอย้ำว่า การนำไปใช้ในอาหารหรือเครื่องสำอาง หมายถึงเมล็ดกัญชง และน้ำมันจากเมล็ด และต้องเป็นไปตามกฎหมาย” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สำหรับประโยชน์กัญชงในแง่ของเครื่องสำอาง พบว่าน้ำมันจากเมล็ด และสารสกัดจากเมล็ดมีสารพวกต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งก็นำมาใช้ในเครื่องสำอางได้ ส่วนเมล็ดกัญชง และน้ำมันจากเมล็ดมีโอเมก้า 3 ก็นำเป็นส่วนประกอบในอาหาร แต่ทั้งหมดจะต้องรอประกาศกระทรวง และต้องดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมล็ดกัญชง ปัจจุบันเป็นที่ปรารถนาของนานาประเทศทั่วโลกเนื่องจากมีโอเมก้า 3 โดยมีการศึกษาขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 รายการพบว่ามีการป้องกันเส้นเลือดตีบในคน ที่เคยเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ 20% ไม่ให้เป็นซ้ำ และป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยหัวใจวายเป็นซ้ำอีก อาจกล่าวได้ว่าทั้งร่างของกัญชงใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัญชาทั้งช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อย.ประกาศแก้กฎกระทรวงให้คนไทยปลูก “กัญชง” จากเดิมอนุญาตรัฐเท่านั้น ย้ำไม่เคยเอื้อประโยชน์ทุนต่างชาติ

“อนุทิน” เคลียร์ “กัญชา-กัญชง” ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 บางกรณี

ปลดล็อก ใช้ประโยชน์จากสารสำคัญใน ‘กัญชา-กัญชง’ ได้ ยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด