ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมเต็มคณะระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) ภายใต้การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562

"ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยมีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ครอบคลุมประชากรเกือบ 100% การลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต ประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เป้าหมายของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน แต่เราสามารถทำได้จริง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ โดยทำทุกอย่างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยมาตรการที่เหมาะสม บนงบประมาณที่มีอยู่

ผมขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันประสบการณ์ของเรา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการ ดังนี้
1. ความเท่าเทียม การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ 72 ชั่วโมงในกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่โรงพยาบาลของรัฐต่อไป

นอกจากนี้ จะต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรค ซึ่งรวมถึงโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ไทยจะขยายสิทธิประโยชน์ให้ รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง สานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

2. ประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 15% ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ แม้ว่าเราจะมีงบประมาณจำกัด เราก็เพิ่มการใช้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น รวมไปถึงมาตรการทางการเงินสมัยใหม่ กองทุน เงินสะสม เพื่อดำเนินการในการใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่าต่อไป
3. การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน คือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ตามแนวทางประชารัฐ ให้ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เน้นการส่งเสริมบริการสุขภาพในระดับมูลฐานที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะลดความเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

ท่านประธานครับ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ ใช้การทำงานออนไลน์ ปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลใหญ่ด้วยระบบออนไลน์นะครับ แล้วก็ลดภาระในการเข้าเดินทางมาที่โรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงนะครับ

มีการจัดชุดแพทย์ หมอครอบครัวอัตรา 1 ชุด ต่อประชากร 3 หมื่นคนทั่วประเทศ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การรับยาหลังจากที่หมอให้ยาไปแล้วสามารถไปซื้อยาได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน เพื่อจะลดระยะเวลารอคอยการจ่ายยา ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะลดระยะเวลาในการรอในโรงพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด ด้วยการแก้ปัญหาที่ระบบปฐมภูมิ

ในส่วนของประเทศไทย พร้อมจะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับประเทศต่างๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และพร้อมให้ความร่วมมือกับหุ้นส่วน เพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปด้วยกันนะครับ"

เราให้ความสำคัญกับระบบปฐมภูมิ และแก้ปัญหาด้วยการให้ทุกคนออกกำลังกาย ไม่เป็นโรค ไม่บริโภคอาหารที่มีความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ จะลดปัญหาการใช้จ่ายกองทุนสุขภาพลงได้มากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป ขอบคุณครับ

อนึ่ง ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาแล้วในหลายวาระ ตัวอย่างเช่น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 : “ที่ผ่านมางบประมาณสาธารณสุขมีไม่พอเพราะไปทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนได้รับประโยชน์ และเป็นประชานิยม แต่อยากถามว่ามีความพร้อมหรือไม่ ประเทศไทยพร้อมหรือยัง อีก 190 กว่าประเทศยังไม่เห็นมีใครทำโครงการแบบนี้เป็นการบิดเบือนในเกือบจะทุกเรื่อง จึงเป็นภาระในวันนี้”

วันที่ 28 ธันวาคม 2558 : “ในส่วนของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นโครงการที่สุดยอด แต่รายได้ไม่มี”

วันที่ 5 มกราคม 2559 : “โครงการ 30 บาทก็ยกเลิกไปเอามาจ่ายค่ายาง ค่าข้าว ให้มันชดเชยไป เพราะผมมีเงินเท่านี้ แต่ตอนนี้ก็กำลังสร้างความเข้มแข็ง”

นอกจากนี้ ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ในหัวข้อระบบหลักประกันสุขภาพ เป้าหมายระยะ 20 ปี มีการระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “และมีการร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายตามกำลังความสามารถในการจ่าย” ซึ่งหมายถึงต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายตามเศรษฐานะของตัวเอง