ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์เด็กชี้ ปัญหาเด็กติดเกมป้องกันได้ พ่อแม่ต้องคุยกับเด็กตั้งแต่แรกใน 3 เรื่อง ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน เนื้อหาไม่รุนแรง เล่นแต่พอเหมาะเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมหมกมุ่น

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาจะพบปัญหาจากการเล่นเกมของเด็กและเยาวชนอย่างมาก ปัญหาเด็กติดเกม ถือเป็นปัญหาครอบครัวที่ต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จริงๆ เราป้องกันได้ ตั้งแต่ก่อนลูกจะเริ่มเล่นเกม โดยต้องพูดคุยกับลูกก่อนว่า ควรเล่นเกมกี่ชั่วโมงต่อวัน เช่น 1-2 ชั่วโมงต่อวัน หรือเสาร์อาทิตย์อาจเพิ่มเป็น 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และต้องดูพฤติกรรมด้วยว่า มีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือหมกมุ่นกับการเล่นเกมจนไม่ทำอะไร ไม่กินข้าว ไม่หลับไม่นอน ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียน ส่งผลต่อชีวิตพวกเขา สิ่งเหล่านี้กระทบต่อการดำเนินชีวิต พ่อแม่ต้องรีบหาทางพูดคุย แก้ปัญหากันภายในครอบครัว หากไม่ได้จริงๆ ให้รีบพาพบจิตแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีข่าวพบวัยรุ่น 17 ปีเสียชีวิตขณะอยู่ข้างคอมพิวเตอร์ จนเกิดคำถามว่า เป็นเพราะเล่นเกมมากจนเกินไปหรือไม่ นพ.วรตม์ กล่าวว่า คงไม่สามารถวิเคราะห์กรณีข่าวนี้ได้โดยตรง แต่หากให้วิเคราะห์โดยหลักแล้วอาจไม่ใช่สาเหตุจากการเล่นเกมโดยตรง แต่น่าจะมาจากโรคประจำตัวด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางสมอง โรคลมชัก หรือแม้แต่โรคเกี่ยวกับเลือด ซึ่งหากเล่นเกมอย่างหักโหม ไม่พักผ่อน เล่นหามรุ่งหามค่ำ อดข้าว ไม่นอน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ร่างกายมีภาวะเครียด และจะส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอันตราย

“ประเด็น คือ ในเด็กหรือวัยรุ่น หลายคนคิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัว เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปตรวจสุขภาพประจำปี และหากป่วยเป็นโรค ประกอบกับเล่นเกมหนักวันละ 10 ชั่วโมง ไม่พักผ่อนก็มีความเสี่ยงเกิดอันตรายได้ แต่จริงๆ แล้วในเรื่องเวลาการเล่นเกมค่อนข้างบอกยากว่า ต้องกี่ชั่วโมง เพราะบางคน 3-4 ชั่วโมงก็ถือว่ามาก บางคนก็ถือว่าไม่มาก อยู่ที่กระทบกับตัวเองมากแค่ไหน พฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งตัวเองไม่ค่อยรู้ตัว คนรอบข้าง พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต” นพ.วรตม์ กล่าว

นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการป้องกันนั้น อยากย้ำเตือนว่า สิ่งสำคัญคือต้องคุยกับเด็กตั้งแต่แรกใน 3 เรื่อง คือ 1. เวลา ต้องกำหนดให้ชัดเจน เป็นกฎของบ้านร่วมกัน 2.เนื้อหา ต้องไม่รุนแรง และไม่ดูอะไรที่นำไปสู่การเล่นเกมที่รุนแรงได้ เช่น การดูเกมแคสเตอร์ ก็ต้องเลือกที่ไม่มีความรุนแรงด้วย และ 3. พฤติกรรม ต้องคุยกันว่าเล่นแต่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมหมกมุ่นจนก้าวร้าว ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ คนรอบข้างอาจต้องช่วยกันดูด้วย