ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต เผย 4 ปัจจัยส่งผลศิลปินเกาหลีเครียดสูง ฆ่าตัวตาย เผยปัญหาการกลั่นแกล้งส่งผลหนักทั่วโลก พร้อมระบุการแกล้งกันตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น เหยียดและล้อเพื่อน ‘อ้วน-เตี้ย-ดำ’ เป็นจุดเริ่มการกลั่นแกล้งมากขึ้นเรื่อยและกลายเป็นความรุนแรงอนาคต

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.62 สื่อมวลชนประเทศเกาหลีใต้รายงานว่า "คูฮารา" (Goo Hara) ศิลปินชื่อดัง อดีตสมาชิก KARA เสียชีวิตที่บ้านพัก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจคังนัม ในกรุงโซล ระบุว่า ได้พบร่างของนักร้องสาวช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภายในบ้านพัก นั้น

วันที่ 25 พ.ย. 2562 นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า ก่อนอื่นต้องแสดงความเสียใจกับญาติและผู้ใกล้ชิดกับศิลปินเกาหลีที่เสียชีวิต ประเด็นการเสียชีวิตของศิลปินเกาหลี พบว่ามีการนำเสนอตามสื่ออยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้ตามหลักจิตวิทยา พบว่ามีประเด็นเกี่ยวข้อง 4 เรื่อง คือ 1.ความเครียดในวงการบันเทิง ความคาดหวังของเกาหลีค่อนข้างสูงมาก เรื่องแฟนคลับมีความสำคัญกับศิลปินเกาหลี เพราะหากแฟนคลับสนับสนุน ศิลปินก็จะโด่งดัง แต่หากไม่สนับสนุนก็จะเกิดปัญหา เรียกว่า ชื่อเสียงของศิลปินเกาหลีแขวนอยู่บนเส้นด้าย ดังนั้น ดาราศิลปินเกาหลีจะมีความเครียดสูง เพราะศิลปินรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาตลอด การแข่งขันย่อมสูง

2.การยอมรับในเรื่องการป่วยของศิลปิน ยังเป็นปัญหา เพราะพวกเขายังไม่ยอมรับว่าป่วย เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบต่อการยอมรับของแฟนคลับ คนรอบข้าง เห็นได้ว่าคนดัง ๆ หลายคนก็ไม่ยอมรับว่าป่วย ทำให้ขาดการรักษา 3.ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หรือ Survivor of suicide หมายความว่า คนรอบข้างของคนฆ่าตัวตายที่มีความเสี่ยง ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะพวกเขาถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจฆ่าตัวตายตามได้

“กรณีของคูฮารา ตามที่ปรากฎเป็นข่าว เคยฆ่าตัวตายครั้งหนึ่ง และเพื่อนในวงของเธอเคยทำเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น ความเสี่ยงเกิดเหตุซ้ำย่อมมี อย่างล่าสุด แฟนคลับของวง KARA มีความเป็นห่วงสมาชิกในวงคนอื่น ๆ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความแค่ศิลปินเกาหลี แต่รวมทั้งคนไทย ศิลปิน หรือคนทุกอาชีพ ย่อมมีความเสี่ยงหมด” นพ.วรตม์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวาถามว่า ความเสี่ยงการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งมาจากสื่อโซเชียลฯ ด้วยหรือไม่ นพ.วรตม์ กล่าวว่า มีส่วน แต่โซเชียลมีเดีย มีทั้งข้อดีข้อเสีย หากรู้จักใช้ให้ดีให้เกิดประโยชน์ก็ไม่มีปัญหา แต่หลายคนก็ใช้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกรณีการบูลลี่ (bully) หรือการกลั่นแกล้งทางสังคมออนไลน์ เห็นได้บ่อยในยุคปัจจุบัน หลายคนรับได้ หลายคนรับไม่ได้ หลายคนจำใจรับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องระดับสังคม ที่ต้องเปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนทัศนคติ ไม่ใช่แค่การรณรงค์ แต่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้

“การบูลลี่ตั้งแต่เด็ก ๆ จะกลายเป็นความรุนแรงในอนาคตได้ อย่างการแกล้งเพื่อน ล้อว่า อ้วน เตี้ย ดำ ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูลลี่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงการบูลลี่บนสังคมออนไลน์ ซึ่งการพูดลักษณะนี้เป็นการเหยียดคน ในต่างประเทศหากมีการพูดลักษณะนี้ในโรงเรียน จะถูกทำทัณฑ์บนทันที ซึ่งบรรทัดฐานของไทย กับของต่างชาติจะไม่เหมือนกัน เราต้องเริ่มจากครอบครัว ในการเลี้ยงดูลูก โรงเรียน ครูอาจารย์ต้องช่วยกัน คือ ต้องช่วยกันทุกระดับไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่เรื่องน่าเศร้า” นพ.วรตม์ กล่าว

งานรำลึกถึง คูฮารา ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ที่จัดขึ้นที่ รพ.เซนต์แมรี่ กรุงโซล เกาหลีใต้ ภาพจาก Chung Sung-Jun/AP