ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคชี้สถานการณ์โรคเอดส์ของไทยเข้าสู่ระยะ Last Mile คาดให้บริการยาต้านไวรัสก่อนมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ได้เต็มรูปแบบภายใน 4 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าปี 2573 ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือต่ำกว่า 1,000 ราย

นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวบรรยายหัวข้อ "นโยบายการใช้เพร็พในการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย" ในงานสัมมนาติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีมานี้ ประเทศไทยได้ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหาเอดส์ ทั้งการสร้างระบบบริการที่เข้มแข็ง การสร้างบุคลากร การสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาสังคมเพื่อเป็นส่วนเติมเต็มการแก้ไขปัญหาเอดส์ มีการพัฒนาฐานข้อมูลและลงทุนด้านการให้ยา ฯลฯ หากดู Preference ต่าง ๆ ในกลุ่มทหารเกณฑ์ เมื่อก่อนมีทหารเกณฑ์ติดเชื้อ 10% ปัจจุบันมีไม่ถึง 1% การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ก็ลดลงอย่างมาก ส่วนกลุ่มประชากรหลักอย่างชายรักชายปัจจุบันมีประมาณ 10% จากเดิมอยู่ที่ 30-40% และกลุ่มที่สูงที่สุดคือกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ในอดีตตัวเลขอยู่ที่ 40-50% มาตลอด ตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 20% ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ลดต่ำลงมาก อัตราการตายประมาณ 20 : ประชากร 1 แสน

นพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า การดำเนินการเรื่องโรคเอดส์ในปัจจุบันถือว่าเข้าสู่ระยะ Last Mile แล้ว เหลืออยู่กลุ่มเดียวที่ยากและคิดว่ายังจัดการได้ไม่ดี ซึ่งเพร็พ (การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก่อนมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือ Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) จะเป็นนวัตกรรมสำคัญตัวหนึ่งที่เข้ามาช่วยในเรื่องลดการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังไม่ลืมสิ่งที่ทำสำเร็จคือเรื่องถุงยางอนามัยและการให้ยากดไวรัสที่ยังต้องรักษาไว้อย่างเข้มข้นต่อ โดยมี PrEP เข้ามาเติมเต็มเพื่อลดการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่

นพ.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคตั้งเป้าในเรื่องเอดส์ไว้ 3 เรื่องคือ 1.ลดการติดเชื้อ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,000 ราย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2573 หรืออีก 10 ปี ตัวเลขจะอยู่ต่ำกว่า 1,000 ราย สะท้อนว่าจะต้องมีมาตรการที่เยอะกว่านี้ โดย PrEP ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งและในอนาคตจะหาเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้อีกเพื่อตอบโจทย์ให้ต่ำกว่า 1,000 รายให้ได้

2.ลดการเสียชีวิต ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 4 แสนคน เสียชีวิตปีละเกือบ 20% เพราะฉะนั้นต้องลดการเสียชีวิตด้วยการให้ยากดไว้รัสและป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ โดยตั้งเป้าปี 2573 จะเสียชีวิตไม่เกิน 4,000 ราย ถือว่าเป็นความท้าทายมาก

และ 3.การเปลี่ยนวิธีคิดของคนเกี่ยวกับโรคเอดส์ ปัจจุบันก็ยังมีการตีตรา การเลือกปฏิบัติ จึงต้องพยายามให้เกิดกระบวนการเพื่อลดปัญหานี้และทำให้ผู้ติดเชื้อกลับเข้าสู่สังคมให้ได้ โดยตั้งเป้าลดการตีตราลงให้ได้มากกว่า 90%

"เรื่องการลดการติดเชื้อ สิ่งแรกเลยคือจัดให้มีบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและครอบคลุมมากที่สุด ผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 95% ต้องได้รับยากดไวรัส ขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับคุณภาพการบริการ เราได้รับรางวัลการป้องกันจากแม่สู่ลูกก็จะเน้นตรงนี้ต่อ รวมถึงการป้องกันการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น เพราะเมื่อไหร่ที่กราฟโรคเหล่านี้ขึ้นก็จะตามมาด้วย HIV ถ้าลดการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ก็จะลดความเสี่ยงในกลุ่มนี้ลดด้วย ส่วนการลดการเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงยา การบริการในชุมชนและการดูแลสนับสนุนคุณภาพชีวิตในสังคม และเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติก็ต้องพยายามปรับภาพลักษณ์ความเข้าใจต่างๆ เรื่องการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิทั้งหลาย" นพ.ปรีชา กล่าว

สำหรับโรดแม็ปของ PrEP ในระยะ 4 ปีข้างหน้านี้ นพ.ปรีชา กล่าวว่า ในปี 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติทดลองนำร่อง 2,000 ราย ปัจจุบันมี 51 หน่วยบริการ ใน 21 จังหวัด ในช่วงนี้จะเป็นการพัฒนาระบบการบริการ ระบบการบันทึกข้อมูลและการติดตามประเมินผล เมื่อมีผลสรุปการดำเนินการและทุกอย่างออกมาได้ดี ปี 2564 ก็จะเป็นการผลักดันเข้าสู่ชุุดสิทธิประโยชน์ และ ปี 2565 ก็น่าจะมีการจัดบริการครบทุกพื้นที่ โดยในปี 2566 จะขยายเข้าการให้บริการสู่ภาคประชาสังคม ดังนั้นคาดว่า ใน 4 ปีนี้น่าจะให้บริการ PrEP แบบเต็มรูปแบบทั่วประเทศได้