ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคร่วมอภิปรายเวทีหลักประกันสุขภาพในเวทีคู่ขนานงานสมัชชาสหประชาชาติ หลังไทยเป็นตัวอย่างขับเคลื่อนด้านเอดส์ได้สำเร็จ ชี้ปัจจัยสำคัญมาจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นตาข่ายรองรับ รับประกันว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการดูแลเสมอหน้า กลุ่มเสี่ยงได้รับการป้องกัน และบุคลากรสาธารณสุขได้ทำหน้าที่รักษาตามมาตรฐานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เมื่อเวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่ UNFPA สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายให้ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคณะ เข้าร่วมการประชุมผู้นำระดับสูงด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage – UHC) ในสมัชชาแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 74 (United Nations General Assembly: UNGA) นพ.ปรีชา ร่วมอภิปรายคู่ขนานในหัวข้อ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกุญแจสำคัญเพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเวทีอภิปรายได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของไทยในการควบคุมและป้องกันเอดส์ และการยุติการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

นพ.ปรีชา กล่าวว่า ผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น นับเป็นความภูมิใจของประเทศ ความสำเร็จนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งนี้ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนทุกคนตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่สิทธิประโยชน์เอชไอวี/เอดส์นั้น เริ่มมีในระบบในปี 2549 โดยมีเครือข่ายประชาสังคมที่เข้มแข็งร่วมขับเคลื่อนคือ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในโรงพยาบาลและชุมชน เพราะโรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่สามารถทำงานเรื่องเอดส์ได้ คีย์สำคัญจึงอยู่ที่การมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน ที่สำคัญคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 รายนั้น ถูกออกแบบให้มีกรรมการที่มาจากภาคประชาสังคม 5 ราย และหนึ่งในนั้นคือตัวแทนภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีและเอดส์

นพ.ปรีชา กล่าวต่อว่า นโยบายยุติเอดส์ของไทยนั้น ผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือภาคประชาสังคมเหล่านี้ ทั้งในนามของเครือข่ายผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานในชุมชน ซึ่งทำให้ไทยสามารถเข้าใกล้เป้าหมายยุติเอดส์ได้ กำลังสำคัญจากเครือข่ายผู้ป่วยได้เปลี่ยนมุมมองจากที่ผู้ป่วยเป็นเพียงแค่ผู้รับบริการ มาเป็นผู้ให้บริการเพื่อป้องกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีหน้าใหม่ด้วย

และในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ ไทยจะขยายสิทธิประโยชน์ให้รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง สานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ขับเคลื่อนด้านเอชไอวีและเอดส์ของไทย ทั้งด้านการรักษา การให้ยาต้านไวรัส รวมไปถึงการป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหน้าใหม่นั้น สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ป่วยอย่างเข้มแข็ง โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าเป็นตาข่ายรองรับ การมีระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าคือการรับประกันว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเสมอหน้า โดยไม่เลือกฐานะ และกลไกของระบบที่ออกแบบให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมก็ทำให้รับประกันได้ว่า พวกเขาจะมีช่องทางในการสื่อสารและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อการพัฒนาระบบที่ตรงกับความเป็นจริงของผู้ป่วยเอง

“ขณะเดียวกัน การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล บุคลากรสาธารณสุขได้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานะการเงิน สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จของไทยที่เราอยากจะแลกเปลี่ยนกับแต่ละประเทศ” นพ.ปรีชา กล่าว