ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกยุคปัจจุบันคือยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีมีบทบาทในชีวิตประจำวันไปแทบจะทุกเรื่อง พัฒนาการในด้านนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้คนในสังคมที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสหลักของโลกนี้อย่างทันกาล ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสหรือเสียเปรียบคนที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้ดีกว่า

ระบบสาธารณสุขของประเทศก็เช่นกัน มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและการให้บริการมานานแล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับของกระทรวง กรม โรงพยาบาลต่าง ๆ แต่กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบบริการปฐมภูมิ เพิ่งมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานอย่างจริงจังไม่กี่ปีมานี้เอง

แอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระดับปฐมภูมิระหว่าง รพ.สต. และ อสม. ซึ่งโดยเนื้อแท้ของมันก็คือแอปฯ สื่อสารระบบปิดชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาให้ใช้งานเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดรูปแบบการข้อมูลการสื่อสารให้มีระบบ เช่น มีระบบการแจ้งข่าวสาร ระบบแชทในหัวข้อต่าง ๆ การออกแบบให้เก็บข้อมูลหรือภาพได้นานเพื่อให้กลับไปสืบค้นได้ทุกเมื่อ รวมทั้งมีฟังชั่นอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น การกำหนดพิกัด การนัดประชุมและตอบรับประชุม การส่งรายงานประจำเดือนและรายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายผ่านมือถือ โดยรวมแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้เกิดความประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ รวมทั้งทำให้การสื่อสารระหว่าง รพ.สต.และ อสม. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในระดับปฐมภูมิมากขึ้น ทางบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาแอปฯดังกล่าวจึงได้จัดโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ขึ้นมา โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 สิ้นสุดระยะเวลาเปิดรับรายงานผลงานเชิงคุณภาพเมื่อสิ้นเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา และจะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณารางวัลในวันที่ 20 ธ.ค.2562 และประกาศผลในวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าโดยเนื้อแท้ของแอปฯอสม.ออนไลน์ก็คือเครื่องมือในการจัดระบบการสื่อสารตัวหนึ่ง ดังนั้นการใช้งานแอปฯนอกเหนือจากเรื่องพื้นฐาน เช่น การแจ้งนัดประชุม แจ้งข่าวสารสำคัญ หรือการส่งรายงานประจำเดือนต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์กับงานสาธารณสุขได้อีกสารพัดอย่างขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละพื้นที่ว่าจะนำไปใช้งานอย่างไร ซึ่งในระยะ 2 ปีมานี้ก็มีหน่วยบริการหลายแห่งที่สามารถนำแอปฯ อสม.ออนไลน์ไปประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เริ่มที่ รพ.สต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยาชุดและการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย โดย เพ็ญศรี พันธุรี ผู้อำนวยการ รพ.สต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ให้ข้อมูลว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่ามีการนำยาชุดที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนเข้ามาขายในชุมชน จากการตรวจสอบพบว่ามีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ใช้ยามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น รพ.สต.จึงดำเนินการในเชิงรุก โดยจัดกิจกรรมให้ อสม. ออกเยี่ยมบ้านให้ความรู้ในเรื่องอันตรายของยาชุดและการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย โดยใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการให้ชุดข้อมูลความรู้แก่ อสม. เพื่อนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนในพื้นที่อีกทอดหนึ่ง รวมทั้งใช้ในการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานของ อสม. กลับมายัง รพ.สต.อีกด้วย

"แนวทางของเราคือการถ่ายทอดข้อมูลผ่านแอปฯ ให้ทาง อสม. ศึกษาทำความเข้าใจก่อน แล้วให้ออกเยี่ยมบ้านความรู้เรื่องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยตลอดจนสอบถามข้อมูลการใช้ยาของประชาชน เราก็จะรู้สถานการณ์ของตำบลเราว่ามีการใช้ยาชุดพร่ำเพรื่อมากน้อยเพียงใด ข้อมูลตรงนี้เราก็สามารถนำมาวางแผนการทำงาน เช่น อาจจะนำคนกลุ่มนี้มาอบรมให้ความรู้เรื่องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมให้มากขึ้น" เพ็ญศรี กล่าว

ทั้งนี้ อสม.ของ รพ.สต.ชมพูได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนไปแล้ว 500 หลังคาเรือนจากทั้งหมด 2,000 หลังคาเรือน และจะเดินหน้าดำเนินการต่อจนครบทุกหลังคาเรือน ขณะเดียวกันยังถือโอกาสนี้ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU ) ตลอดจนสร้างความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยาอันเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปอีกด้วย

ตัวอย่างต่อมาคือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชองค์ที่ 19 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งนำแอปฯอสม.ออนไลน์มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการการดูแลแม่และเด็ก ตั้งแต่ก่อนคลอด การฝากครรภ์คุณภาพ ตลอดจนการดูแลหลังคลอด โดยกระบวนการทำงานจะเชื่อมโยงกับ อสม. เริ่มตั้งแต่ Early ANC เมื่อ อสม. Detect เจอหญิงตั้งครรภ์ก็จะส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาลผ่านทางแอปฯ โรงพยาบาลก็จะทราบพิกัดแผนที่ได้ทันที และถ้าหญิงคนนั้นยังไม่มาฝากครรภ์ก็ต้องให้ รพ.สต. หรือ อสม.ในพื้นที่ไปชักจูงให้ฝากครรภ์ และเมื่อมาฝากครรภ์แล้ว โรงพยาบาลก็ส่งข้อมูลกลับไปพื้นที่เพื่อให้ติดตามเยี่ยมบ้าน ดูแลเรื่องภาวะเสี่ยงและให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์จากนมแม่ หรือช่วงใกล้คลอด หากมีปัญหา อสม.ก็สามารถส่งข้อมูลมาปรึกษาที่โรงพยาบาลได้ว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆ และในช่วงหลังคลอดก็จะมีทีม อสม.ในพื้นที่ลงไปเยี่ยมดูว่าการให้นมแม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ มีนวัตกรรมต่างๆ เช่น แม่ไปทำงานต้องปั๊มนมเก็บนมอย่างไร จะสามารถเอานมที่ฟรีสไว้มาป้อนลูกอย่างไร และนอกจากให้ความรู้กับแม่แล้ว ครอบครัวก็ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก เช่น ปู่ย่าตายาย ระหว่างที่แม่ไม่อยู่จะต้องเข้าใจว่าจะทำอย่างไรถึงจะเอานมที่เก็บไว้ว่าให้ลูกกินได้ เป็นต้น

"ถ้าคนไข้ขาดนัดเราก็จะส่งข้อมูลให้ อสม.ในพื้นที่ช่วยไปดูหน่อยว่าติดขัดอะไรทำไมไม่มาตามนัด หรือถ้าบางเคสดูแล้วแม่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เราก็ให้คำปรึกษาทางออนไลน์หรือถ้าจำเป็นก็ปรึกษาสูติแพทย์ ซึ่งถ้าไม่มีแอปฯ อสม.ออนไลน์ การทำงานจะยุ่งยากมากขึ้นเพราะใช้โทรศัพท์แล้วไม่เห็นภาพคนไข้ บางทีนมคัด นมตึง น้ำนมไม่มี บางทีก็ต้องถ่ายรูปเต้านมเพื่อพิจารณาสาเหตุ หรือถ้าปรึกษามาในเรื่องโรคของแม่ เราอาจต้องแนะนำเรื่องภาวะโภชนาการว่าควรกินอะไร บางครั้ง อสม.อาจขอคำปรึกษาเข้ามาในช่วงที่เจ้าหน้าที่ประชุมอยู่ เราก็ต้องมีการจัดคิวหรือกำหนดว่าใครจะเป็นคนตอบ การทำงานก็จะมีความสะดวกมากขึ้น"นพ.จิรพจน์ วงศ์สัจจาธิติ ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชองค์ที่ 19 กล่าว

ด้าน รพ.สต.บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปประยุกต์ใช้กับโครงการ"พาคนดีไปเยี่ยมคนป่วย" โดยให้ อสม.แจ้งเหตุกรณีมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่หรือโรงพยาบาลส่งตัวกลับมาพักฟื้นในชุมชน รวมทั้งรายงานปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องให้หมออนามัยเข้าไปดูแลเพิ่มเติมผ่านทางแอปฯอสม.ออนไลน์ จากนั้นคนดีซึ่งก็คือหมอและอสม.ก็จะไปเยี่ยมบ้านคนป่วยตามที่ อสม.แจ้งมาเพื่อช่วยดูแลหากมีปัญหาสุขภาพ แนะนำญาติหรือ อสม. ในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและวิธีการดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อาจมีเวชภัณฑ์ เครื่องมือทำแผล ฯลฯ ไปสอนให้ แล้วแต่รายกรณีไป

"ข้อดีเบื้องต้นที่เห็นชัดๆคือถ้าเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง การเดินทางมา รพ.สต.ไม่สะดวก เมื่อทำโครงการแบบนี้ญาติก็ไม่ต้องลำบากพาคนป่วยขึ้นรถมา โครงการนี้เริ่มผ่านแอปฯอสม.ออนไลน์ในปีนี้ ผลลัพธ์ก็ดีขึ้น ญาติพอใจ ผู้ป่วยก็พอใจ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย"วิบูลย์ ทนงยิ่ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านนาเมือง กล่าว

ขณะที่ รพ.สต.นาดอกไม้ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นอีกหน่วยบริการที่นอกจากการใช้งานพื้นฐานต่างๆแล้ว ยังประยุกต์ใช้แอปฯอสม.ออนไลน์เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยให้ Care Giver ส่งต่อรูปและข้อมูลการปฏิบัติงานในแต่ละวันว่าทำอะไรบ้าง ถือเป็น 1 ในเครื่องมือติดตามการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม Care Plan ที่วางไว้ ซึ่งผลการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในปี 2561 มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 24 คน สามารถเปลี่ยนจากเตียง 3 เป็นเตียง 2 ได้ 12 คนหรือ 50% หรือในกรณีที่มีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ อสม.ก็สามารถรายงานให้ รพ.สต.ทราบและดูแลได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ รพ.สต.นาดอกไม้ยังใช้แอปฯอสม.ออนไลน์เป็นเครื่องมือติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยเส้นโลหิตในสมองแตก โดยจะให้ความรู้แก่ประชาชนในหลายๆช่องทาง ทั้งทางไลน์ แผ่นพับ ทางหอกระจายข่าว รวมทั้งการให้ อสม.ลงพื้นที่ให้ความรู้ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านเริ่มมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ก็จะทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแล้วรีบไปแจ้ง อสม. ถ้าอสม.มั่นใจก็แจ้งโรงพยาบาลหรือ 1669 ได้เลย แต่ถ้าไม่มั่นใจก็สามารถถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อประสานงานแล้วค่อยจัดส่งคนไข้เข้าระบบ Fast track ผลจากการทำงานที่เป็นระบบทำให้ รพ.สต.นาดอกไม้เป็นอันดับ 1 ของอำเภอในการค้นพบและส่งผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกได้เร็วที่สุด

ลงไปทางภาคใต้ที่ จ.พัทลุง ก็มีตัวอย่างดีๆในการนำแอปฯอสม.ออนไลน์มาประยุกต์ใช้งาน เช่นที่โรงพยาบาลศรีบรรพต เน้นในเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยที่มีปัญหาติดบ้านติดเตียง โดยทาง อสม. จะลงพื้นที่วัดน้ำหนัก ค่าน้ำตาลในเลือด ค่าความดัน ฯลฯ แล้วส่งข้อมูลผ่านแอปฯมาให้โรงพยาบาล จากนั้นญาติก็มารับยาที่โรงพยาบาลได้เลยโดยไม่ต้องพาคนไข้มาด้วย หรือในกลุ่มที่ประเมินค่า ADL แล้วต่ำกว่า 11 บางครั้งต้องขอหนังสือรับรองความพิการจากแพทย์ ทาง อสม.จะไปประเมินคนไข้แล้วส่งข้อมูลกลับมา แพทย์ก็สามารถพิจารณาออกใบรับรองความพิการทางการเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น

พรทิพย์ เรืองพุทธ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลศรีบรรพต เล่าด้วยว่าโรงพยาบาลยังใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ ในการสื่อสารเพื่อติดตามผู้ป่วยที่ผิดนัด ขาดนัด ขาดยา โดยหากผู้ป่วยไม่มาพบแพทย์ตามนัดก็จะสื่อสารไปยัง อสม. ให้ไปติดตามตัว ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องการผิดนัดได้เยอะมาก

"ด้วยความที่เป็นโรคเรื้อรัง บางทีผู้ป่วยก็ไม่มา มีผิดนัดเกือบทุกเดือน เดิมเราใช้วิธีโทรตามซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการโทร เมื่อก่อนฝ่ายของเราจะมีการตั้งงบประมาณค่าโทรศัพท์ไว้เดือนละ 300-400 บาท แต่ตอนนี้ได้ยกเลิกการตั้งงบตัวนี้ไปเพราะเรามาสื่อสารกันทางแอปฯอสม.ออนไลน์แล้ว" พรทิพย์ กล่าว

ยังอยู่ที่ จ.พัทลุง ที่ รพ.สต.บ้านปากคลอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นอีกหน่วยบริการที่นำแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้งานกับทุกงาน แต่ที่น่าสนใจคือการใช้เตรียมรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม โดย เจริญ คำนวล ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปากคลอง กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2560 ช่วงนั้น จ.พัทลุง เกิดภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในหลายอำเภอรวมทั้งที่ อ.ควนขนุนด้วย ตนติดตามสถานการณ์และวิเคราะห์แล้วคาดน้ำท่วมพื้นที่รับผิดชอบแน่นอนจึงตั้งกลุ่มขึ้นมากลุ่มหนึ่งในห้องแชทของแอปฯอสม.ออนไลน์ ใช้ชื่อว่าเครือข่ายเฝ้าระวังภัยน้ำท่วม โดยดึง อสม.จากแต่ละหมู่บ้านมาหมู่บ้านละ 1 คนเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลก่อนรายงานสถานการณ์ ไม่ให้เกิดภาวะสับสนของข้อมูล และเมื่อปริมาณน้ำฝนสะสมใน อ.ควนขนุนอยู่ที่ 215 มิลลิเมตรซึ่งจะเกิดภาวะน้ำหลากแน่นอนแล้ว ตนจึงแจ้งให้ อสม.เตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับมือน้ำท่วม โดยตอนที่แจ้งเตือนนั้นชาวบ้านบางคนยังหัวเราะกันว่าจะท่วมได้อย่างไรเพราะพื้นที่นี้ไม่เคยท่วม แต่สุดท้ายน้ำก็ท่วมจริงๆ

เช่นเดียวกับการอพยพผู้ป่วยก็มีการเฝ้าระวังสถานการณ์กันทั้งคืน โดยให้ อสม.ติดตามวัดระดับน้ำเป็นระยะๆ เมื่อรู้ว่าน้ำจะท่วมก็รีบอพยพผู้ป่วยออกมา จนเมื่อน้ำท่วมตอนหัวรุ่งก็สามารถอพยพคนไข้ได้หมดแล้ว

"ปีนั้นเป็นปีแรกที่เกิดน้ำท่วมหนักเพราะชุมชนนี้ไม่เคยมีน้ำท่วมขนาดนี้มาก่อน ซึ่งถ้าเทียบกับตำบลอื่นแล้ว ที่นี่ อสม.เป็นพระเอกเพราะรู้ข้อมูลอย่างมาก ที่อื่นต้องรอหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วย แต่ของ รพ.สต.บ้านปากคลองย้ายผู้ป่วยกันออกมาก่อนแล้ว"เจริญ กล่าว

ยังอยู่ที่ รพ.สต.บ้านปากคลอง ดังที่กล่าวแล้วว่ามีการประยุกต์ใช้แอปฯอสม.ออนไลน์กับทุกๆงาน แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือการใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุขเท่านั้น วิธีการคือ ผอ.รพ.สต.มักจะติดตามข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน จากนั้นเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่เพื่อให้ อสม.เข้าใจได้ง่าย เช่น ไข้ฉี่หนู ให้อสม.ท่องให้ขึ้นใจคือมีไข้+ปวดน่อง หรือหลังน้ำลดน่าจะมีโรคอะไรตามมา หรือข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ลมฟ้าอากาศ ก็จะสรุปข้อมูลพยากรณ์อากาศแล้วแจ้งประชาชนว่าควรตากข้าวช่วงไหน แม้แต่การขอบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็แจ้งข้อมูลให้ อสม. กระจายข่าว เป็นต้น

เจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่าการดำเนินงานในลักษณะนี้มีข้อดีคือทำให้ อสม.รู้ข้อมูลทุกเรื่อง และเมื่อสิ่งที่แจ้งประชาชนไปแล้วได้ผลจริง อสม.ก็จะได้รับความเชื่อถือกลับมานั่นเอง

...นี่เป็นเพียงตัวอย่างหน่วยบริการบางส่วนที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ เชื่อว่าการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ปีที่ 3 ในครั้งนี้ เราจะได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากหน่วยบริการอื่นๆในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน...