ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ เป็นแอปฯที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่แอปฯดังกล่าวได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้พัฒนาเพิ่มฟังชั่นการทำงานใหม่ๆอยู่เสมอเพื่ออำนวยความสะดวกทำให้การปฏิบัติงานของ อสม. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ฟังชั่นการส่งรายงานประจำเดือนทางออนไลน์ อสม.สามารถบันทึกข้อมูลแล้วส่งทางโทรศัพท์ได้เลยทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องเขียนในกระดาษหรือเดินทางมาส่งรายงานที่ รพ.สต. หรือล่าสุดก็มีการเพิ่มฟังชั่นสำรวจลูกน้ำยุงลายที่ทำให้ อสม.สามารถบันทึกข้อมูลการสำรวจลูกน้ำจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องเขียนลงในกระดาษ ขณะที่ทาง รพ.สต. ก็สั่งให้แอปฯประมวลผลได้เลย ไม่ต้องมานั่งคำนวนค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน House Index และค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย Container Index ให้เสียเวลา

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันแอปฯดังกล่าวจะถือว่าสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้อย่างมากแล้ว แต่ด้วยขีดความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันแล้ว แอปฯอสม.ออนไลน์ยังมีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการเพิ่มฟังชั่นใหม่ๆเพื่อตอบสนองการทำงานในระบบปฐมภูมิได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าต้องการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านใด

ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานบางส่วนกันบ้างว่าชอบอะไรในแอปฯอสม.ออนไลน์ และอยากปรับปรุงหรือพัฒนาในเรื่องใดอีกบ้างเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานมากที่สุด

นางเพ็ญศรี พันธุรี ผู้อำนวยการ รพ.สต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ให้ความเห็นว่า ในปีนี้สิ่งที่สร้างความแตกต่างชัดเจนมากที่สุดคือฟังชั่นการรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย อย่างเวลาเล่าหรือชักชวนเพื่อน รพ.สต.ยังไม่เปิดใจให้มาลองใช้งานก็จะสามารถตอบได้ว่าแอปฯนี้ดีอย่างไร และสิ่งที่อยากให้พัฒนามากขึ้นไปอีกคือการเพิ่มระบบการประมวลผลกิจกรรมตามหัวข้อต่างๆ เช่นเดียวกับเรื่องการสำรวจลูกน้ำยุงลาย เช่น ถ้าอสม.ส่งรายงานกิจกรรมก็สามารถประมวลผลได้เลยว่าคนไหนทำแล้ว คนไหนยังไม่ได้ทำ ภาพรวมทั้งปีเป็นอย่างไร เป็นต้น

"อยากให้ตั้งชื่อหัวข้อแล้วประมวลผลได้เลยเพราะงานของอสม.มีหลายกิจกรรม ตอนนี้ต้องเก็บเป็นกิจกรรมรายวันซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากแก่ รพ.สต.ที่อาจไม่มีเวลาแต่ก็ต้องทำเพราะต้องเก็บผลงาน กรณีนี้ถ้าเราสามารถกำหนดหัวข้อแบบการสำรวจลูกน้ำยุงลายได้ เรายิ้มเลย เช่น ถ้าทำเรื่องการให้ความรู้การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) กับทุกครัวเรือนแล้วสามารถประมวลผลได้ว่า อสม.ไปให้ความรู้เรื่อง RDU กี่ครัวเรือน ภาพรวมทั้งปีเป็นอย่างไร แบบนี้จะเลิศมาก แต่ตอนนี้เราไม่สามารถประมวลผลในแอปฯได้ ก็ต้องมาเก็บข้อมูลเป็นรายวันว่าคนไหนทำแล้ว คนไหนยังไม่ได้ทำ ซึ่งถ้ามีการพัฒนาระบบแบบนี้ขึ้นมาเชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ดึงดูดให้ รพ.สต.ต่างๆหันมาใช้แอปฯอสม.ออนไลน์มากยิ่งขึ้น"นางเพ็ญศรี กล่าว

ด้าน น.ส.อาภาภร ประชากูล ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโนนสมบูรณ์ อ.ปากชม จ.เลย ให้ความเห็นว่า ส่วนที่ชอบมากในแอปฯอสม.ออนไลน์คือฟังชั่นสำรวจลูกน้ำยุงลาย เพราะใช้งานง่าย มีรูปไอคอน เช่น ยางรถยนต์ ขวดไม้ กระถางต้นไม้ ซึ่งสามารถสื่อความหมายกับ อสม.ได้ง่าย ต่างจากแบบฟอร์มซึ่งจะมีช่องอื่นๆให้บันทึกข้อมูล และสำหรับ อสม.บางคนเขียนหนังสือไม่เป็นก็จะไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรดี แต่พอทำเป็นรูปในแอปฯนี้ทำก็ทำให้ อสม.เข้าใจได้มากขึ้น

"สิ่งที่อยากให้พัฒนาขึ้นไปอีกเรื่องการเพิ่มระเบียนชุมชนเพราะตอนนี้มันรวมกันหมดทุกหลังคาเรือน ไม่ได้แยกเป็นหมู่ สมมุติบ้านเลขที่ 17 พื้นที่รับผิดชอบมี 8 หมู่บ้านเราก็จะมีบ้านเลขที่ 17 จำนวน 8 หลัง อสม.คนนี้รับผิดชอบหมู่ไหนๆ เราต้องมาค้นหากันอีก ตรงนี้ทำอย่างไรถึงจะเห็นได้ง่ายมากขึ้น"น.ส.อาภาภร กล่าว

ขณะที่ นายชูเดช ชัยศรีชุติชัย ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ อาจจะเห็นต่างจากความคิดเห็นข้างต้น โดยมองว่าตัวแอปฯดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของฟังชั่นสำรวจลูกน้ำยุงลาย ส่วนตัวคิดว่าไอคอนต่างๆยิบย่อยไป มียางรถ แก้วน้ำ แจกัน ฯลฯ ซึ่งในการปฏิบัติงานนั้น รพ.สต. ต้องการแค่รู้ว่ามีลูกน้ำในบ้านแต่ละหลังมากน้อยแค่ไหน ถ้าปลีกย่อยเกินไป อสม.อาจจะงง ดังนั้นจึงอยากให้ปรับให้ง่ายขึ้นอีกนิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงฟังชั่นที่ชอบที่สุดก็หนีไม่พ้นฟังชั่นรายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายอีกเช่นกัน เหตุผลเพราะเมื่ออสม.ส่งข้อมูลเข้ามาแล้ว รพ.สต.สามารถประมวลผลเพื่อนำไปวิเคราะห์ได้เลยว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยง ทำให้สามารถรณรงค์ในพื้นที่นั้นได้ตรงจุด

ด้าน นายวิบูลย์ ทนงยิ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล รพ.สต.บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าอยากให้ปรับปรุงในส่วนของห้องรายงานเหตุเพราะปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมที่ อสม.ปฎิบัติงาน โดยอยากให้เพิ่มหัวข้อในส่วนของผู้ป่วยที่เกี่ยวกับปัญหาสุราหรือสุขภาพจิต และการรายงานเหตุที่เป็นปัจจุบันทันด่วน เช่น เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพราะตอนนี้ถ้ารายงานอุบัติเหตุก็จะรายงานในห้องกิจกรรมซึ่งก็จะมีหลายๆเรื่องปนกันไป

และสุดท้าย นางพรทิพย์ เรืองพุทธ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลศรีบรรพต จ.พัทลุง กล่าวถึงปัญหาหลักๆในเรื่องการใช้งานคือส่วนใหญ่ อสม.จะบ่นเรื่องความช้าในการทำงานของแอปฯ เช่น ส่งไปแล้วกว่าจะโชว์ภาพก็ใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากปัญหาอะไรเพราะตรวจสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตแล้วสัญญาณมีคุณภาพดี ปัญฯหานี้ทำให้อัตราการใช้งานของแอปฯน้อยลงกว่าที่ควรเป็นและมีผลต่อความรวดเร็วในบางงาน ดังนั้นอยากฝากให้ทางทีมพัฒนาปรับปรุงให้การทำงานของแอปฯรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

...นี่เป็นบางส่วนของเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานซึ่งหากในอนาคตมีการพัฒนาให้ใช้งานได้จริง เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในระบบปฐมภูมิและกระตุ้นให้เกิดการใช้แอปฯในวงกว้างมากขึ้น อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการก้าวสู่ยุค อสม. 4.0 และ MOPH 4.0 สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านสุขภาพในอนาคตได้อย่างทันท่วงที...