ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ส่งท้ายปีเก่า เปิด 10 ผลงานเด่น “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562” พัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เน้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รุกเทคโนโลยี มุ่งดูแลสิทธิสุขภาพประชาชน เพิ่มความสะดวกเข้าถึงบริการยิ่งขึ้น สร้างความครอบคลุมทั่วถึงอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปี 2562 ที่กำลังก้าวผ่านไปนี้ นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ สปสช.ได้พิสูจน์ผลงานการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้หลักการ “สร้างนำซ่อม” โดยรูปธรรมความสำเร็จของภารกิจทั้ง 2 ส่วนนี้ สะท้อนผ่านผลงานเด่นตลอดปี 2562 ซึ่งมีอย่างน้อย 10 ผลงาน ดังนี้

1. เฉลิมพระเกียรติในหลวง สปสช. จับมือภาคีฯ รุกโครงการรู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 67 พรรษา สปสช.ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาและผลิต “เครื่องตรวจวัดความดันอัจฉริยะ” และตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ” โดยนำไปจัดตั้งใน 10 สาขานำร่องของ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนต่อไป

โครงการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ดูแลประชาชน

ปี 2562 สปสช.ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีอย่างน้อย 6 รายการใหญ่ ประกอบด้วย 1. ขยายสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ 2. นำร่องการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกอายุ 3. เพิ่มรายการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับบ้าน อีก 12 รายการ (รวมเป็น 24 รายการ) 4. เพิ่มการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จ (2) จำนวน 4 รายการ ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ เส้นประสาทที่เกิดจากการทำลายปลอกมัยอิลินชนิดเรื้อรัง และผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 5.ขยายบริการตรวจคัดกรองยีนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่ต้องเริ่มรักษาด้วยยาคาร์บามาซีปีน (carbamazepine) ในทุกกรณี 6. นำร่องบริการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม

3. ปรับเพิ่มงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 63

สปสช.ได้ทำงานเชิงวิชาการเพื่อยืนยันถึงความจำเป็นในการเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับประชาชน จนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติอนุมัติงบประมาณปี 2563 ให้กองทุนบัตรทอง จำนวน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิ 48.26 ล้านคน หัวละ 3,600 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 173 บาท

4. ปี 2563 เพิ่มยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสเชื้อ ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง

สิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ภายใต้กองทุนบัตรทอง ครอบคลุมทั้งการรักษา กำกับติดตาม คัดกรอง และการส่งเสริมป้องกัน จึงมีการนำร่องสิทธิประโยชน์ “บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” (PrEP) นำร่อง “บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” ในหน่วยบริการ 51 แห่งใน 21 จังหวัด ดูแลกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ทุกสิทธิการรักษา 2,000 ราย พร้อมติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงประทานโล่เกียรติคุณ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.ในฐานะผู้ที่ทำประโยชน์ด้านเพร็พแก่ประเทศไทย

5. สธ.-สปสช.ร่วมมือเดินหน้า “โครงการรับยาใกล้บ้าน” ลดความแออัดในโรงพยาบาล

สปสช.สนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการให้ประชาชนสามารถรับยาได้จากร้านยาใกล้บ้าน จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำ พร้อมด้วย สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชชุมชน (ประเทศไทย) วางแนวทางการดำเนินงานโครงการรับยาใกล้บ้านจนสามารถนำร่องได้ใน 55 โรงพยาบาล และร้านยา 505 แห่งทั่วประเทศ ใน 38 จังหวัด ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในปี 2563 ที่กำหนดว่ามีโรงพยาบาลเข้าร่วม 50 แห่ง และร้านยา 500 แห่งทั่วประเทศ ในผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช และกลุ่มโรคอื่น ๆ ตามการพิจารณาของแต่ละโรงพยาบาล

สธ.-สปสช.เดินหน้าโครงการรีบยาใกล้บ้าน ลดความแออัดในรพ.

6. “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย” ในเวทีโลก

ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไทย เป็นหนึ่งในสาระสำคัญในถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 โดยสิ่งที่ผู้นำประเทศไทยประกาศในเวทีโลก คือการเน้นย้ำถึงความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ

นายกรัฐมนตรแถลงความสำเร็จหลักประกนสุขภาพไทยเวทีสมัชชาสหประชาชน 23 ก.ย.62 ณ นครนิวยอร์ก

7. ไทยต้นแบบศึกษาเรียนรู้ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ร่ำรวย แต่ทุกวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประกอบด้วยระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ กลับสามารถครอบคลุมผู้ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยมากถึง 99.6% นั่นทำให้นานาประเทศให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยประเทศเคนยาตั้งเป้า 4 ปี ประชาชนต้องมีหลักประกันสุขภาพ โดยร้องขอให้ไทยสนับสนุนองค์ความรู้ เช่นเดียวกับประเทศแอฟริกาใต้ ที่ขอให้ไทยเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาระบบ หรือแม้แต่ในงานสมัชชาอนามัยโลกที่หลากหลายประเทศได้ร่วมกันเรียนรู้วิธีการจัดการให้ผู้ป่วยให้เข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ จนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในเรื่องนี้

ปลัดสธ.โมร็อกโกดูงาน สปสช.

8. ประชาชนกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ

พระภิกษุสงฆ์-สามเณร และ กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ นับเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องการขยายสิทธิให้ครอบคลุม โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม ตลอดจนกรมราชทัณฑ์ ในการจัดทำฐานข้อมูลพระภิกษุ-สามเณร และขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งตัวเลขล่าสุดพบว่ามีพระสงฆ์-สามเณร เข้าถึงสิทธิบัตรทองแล้ว 134,982 รูป จาก 144,883 รูป และมีผู้ต้องขังกว่า 329,024 ราย ที่ได้รับสิทธิ และเข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก

9. เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพ ‘คนกรุง’

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นพื้นที่มีความสลับซับซ้อน แม้ว่าข้อมูลทะเบียนราษฎรจะระบุจำนวนประชากรว่ามีราว 5 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงยังมีประชากรแฝงอีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน นั่นทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม.ต้องทำงานเข้มข้น โดยในปี 2562 มีโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อคนกรุงโดยเฉพาะอย่างน้อย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรในโรงพยาบาล โครงการคัดกรองสุขภาพแรงงานนอกระบบในผู้ขับขี่รถสาธารณะ โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น และโครงการหน่วยบริการร่วมให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน ซึ่งทั้ง 4 โครงการนี้ สปสช.ให้บริการแก่ผู้ที่อยู่ใน กทม.ทุกสิทธิ

10. 12 ปี กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หนุน อปท.ร่วมจัดการสุขภาพในชุมชน

 “กองทุนสุขภาพตำบล” หรือ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 นั้น จนถึงขณะนี้มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล เข้าร่วมแล้ว 7,736 แห่ง คิดเป็น 99.5% ของทั้งหมด โดยปัจจุบันครบรอบ 12 ปี ที่กองทุนฯ มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพของท้องถิ่นตัวเอง และในปี 2562 มีการจัดงาน “มหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 12 ปี กปท. เดินหน้า พลังท้องถิ่นไทย รอบรู้ สร้างสุขภาพ อย่างยั่งยืน” และมอบรางวัลกองทุนดีเด่นให้กับ 24 อปท. เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป

“ผลงานที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล ตลอดจนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ นักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย และภาคประชาชน ส่งผลให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สามารถดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ช่วยเสริมรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว