ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่องการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้นประกอบด้วยตัวแทนจาก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการรวมกองทุนสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single Fund) ทั้งสิทธิของคนไทยและคนต่างด้าว เนื่องจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นผู้ที่ต้องมีการร่วมจ่าย โดยผ่านการเก็บเงินสมทบ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า ควรกำกับทิศทางนโยบาย ในกรณีมีหน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขหลายหน่วย โดยกำหนดให้มีองค์กรในระดับประเทศทำหน้าที่อภิบาลระบบ โดยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้หน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขต้องปฏิบัติตามกติกาเดียวกัน

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยนายอนุทิน มีคำสั่งให้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว พิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว

รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาเห็นว่า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเงินการคลัง จึงได้มีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ยกระดับการบูรณาการและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง โดยให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลักที่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและเบิกจ่ายรูปแบบเดียวกัน และในระยะยาวให้มีการเก็บภาษีสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน และรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single fund) 2.ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิรวมถึงคนต่างด้าว และ 3.พัฒนาการจัดบริการสุขภาพแบบเพิ่มคุณค่า (value based healthcare) โดยสนับสนุนให้มีการนำร่องการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขยายผลการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าอย่างเหมาะสมตามข้อเสนอจากการประเมินผลการนำร่อง เพื่อวางระบบอย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อเสนอของคณะกรรมการต่อรายงานดังกล่าวประกอบด้วย ข้อเสนอให้มีให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลักที่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและเบิกจ่ายรูปแบบเดียวกัน และการบูรณาการงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยงาน ต่าง ๆ ได้แก่ สธ. สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่น ๆ และเน้นการทำงานเชิงรุก ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาว่า สธ. ได้มีกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการเงินการคลังและการบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์หลักที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคนที่มีมาตรฐานและบริหารจัดการระบบเดียว โดยเฉพาะบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้มีมาตรฐานและบริหารจัดการระบบเดี่ยวทั้งด้านขอบเขตสิทธิประโยชน์กลไกการเงินการคลัง/ธุรกรรมเบิกจ่าย และระบบบริการรองรับและได้มีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบให้ สปสช. ขยายการบูรณาการบริการ P&P ร่วมกับ สสส. สธ. ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ และกองทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงบประมาณและกิจกรรม P&P อย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2565 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 ม.ค. 64) เห็นชอบเรื่องดังกล่าวแล้ว

ข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการต้องจัดการอย่างมีกลยุทธ์ ปรับระบบเพื่อให้กองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพภาครัฐมีการบริหารจัดการไปในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน คณะกรรมการได้พิจารณาโดยกตัวอย่างกรณีโควิด-19 ว่า สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการสิทธิประโยชน์และจ่ายค่าชดเชยการตรวจคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อ Covid - 19 สำหรับคนไทยทุกคนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือบริการสายด่วน 1330 การสนับสนุนชุดตรวจ ATK เป็นต้น และได้มีการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการสิทธิประโยชน์และบริการดูแลรักษาที่สอดคล้องและใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่อง เช่น บริการ Home Isolation และ Community Isolation เป็นต้น

ข้อเสนอให้มีการเก็บภาษีสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน คณะกรรมการเห็นว่า การจัดเก็บภาษีส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประมาณการจำนวนเงิน 9,500 ล้านบาทต่อปี จากการเก็บภาษี 5% ของมูลค่าการผลิตส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรงและอาจทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงจนต้นทุนด้านสุขภาพในอนาคตลดลง อย่างไรก็ตามอาจเป็นภาระแก่ผู้บริโภค

สำหรับข้อเสนอยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิรวมถึงคนต่างด้าว กรณีคนไทย บูรณาการการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐเป็นระบบเดียวกันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว กรณีคนต่างด้าว การเข้าประเทศต้องมีกลไกและกระบวนการที่ทำให้เป็นการเข้าเมืองถูกกฎหมาย ต้องมีประกันสุขภาพเมื่อเข้ามาในประเทศ โดยใช้กลไกหลักประกันสุขภาพภาครัฐเป็นหลักและระบบเดียวกับคนไทยเพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ต้องมีการร่วมจ่ายก่อนป่วย เพื่อให้ได้สิทธิประกันสุขภาพภาคบังคับ โดยจ่ายผ่านระบบภาษี การจ่ายสมทบ (contribution) หรือการซื้อประกันสุขภาพ สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพให้ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพที่บริหารจัดการโดย สปสช. คณะกรรมการได้พิจารณาว่า สปสช. อยู่ระหว่างขับเคลื่อนงานดังกล่าวร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการขยายความครอบคลุมการประกันสุขภาพภาคบังคับสำหรับคนต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาประเทศไทยที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ โดยนำร่องใน 4 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยว, ผู้ต้องขัง, แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ และ Stateless เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์ การจ่ายสมทบ/ซื้อประกัน และการบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นระบบหรือมาตรฐานเดียว โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานหลักรับผิดชอบต่อไป

ข้อเสนอ พัฒนาการจัดบริการสุขภาพแบบเพิ่มคุณค่า (value based healthcare) โดยสนับสนุนให้มีการนำร่องการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและขยายผลการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าอย่างเหมาะสมตามข้อเสนอจากการประเมินผลการนำร่อง เพื่อวางระบบอย่างยั่งยืนต่อไป คณะกรรมการเห็นว่า สปสช. มีแผนงานและกระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน สปสช. อย่างต่อเนื่องภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ สปสช. เช่น การปรับประสิทธิภาพการบริหารกองทุนฯ และมาตรการในการควบคุมกำกับการเบิกจ่ายให้ถูกต้องกรณีบริการที่จ่ายชดเชยตามรายการ (Fee Schedule) ปีงบประมาณ 2565 การขยายรูปแบบบริการต่าง ๆ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและใช้ศักยภาพของทรัพยากรสาธารณสุขที่อยู่นอกโรงพยาบาล การพัฒนาระบบการดูแลในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสุขภาพในภาพรวม

นอกจากนั้น ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 สปสช.อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อดำเนินงานโครงการนำร่องการจัดบริการแบบเน้นคุณค่า (Value - Based Healthcare) ในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง 4 เขต โดยประสานการทำงานร่วมกับ สธ. ที่รับผิดชอบกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการคล่องตัวและร่วมรับผิดชอบด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่น

ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับทราบผลการพิจารณาดังกล่าว โดยให้รายงานผลการพิจารณาไปยังวุฒิสภา และให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป