ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ถอดบทเรียนครอบครัวอบอุ่น ต.ศรีไค พบ 148 ต้นแบบครอบครัวมีสัมพันธภาพดีจากหลัก 5 ดี ชี้เป็นภูมิคุ้มกันป้องกันเด็กพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเพราะติดมือถือ ใช้กลไกอาสาสมัครครอบครัวเยี่ยมบ้านกระตุ้นพัฒนาการเด็ก “ตัวช่วย” ปู่ย่าตายายเมื่อต้องเลี้ยงหลานลำพัง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี จัดกิจกรรมถอดบทเรียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การเรียนรู้สู่วิถีครอบครัวอบอุ่น” (โฮมฮักเพื่อครอบครัวอบอุ่น)ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมยูเพลส ม.อุบลราชธานี พร้อมมีพิธีมอบรางวัลครอบครัวดีเด่นและส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอวารินชำราบ โดยมีนายธนาคม กองเพียร นายอำเภอวารินชำราบในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้รับมอบ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าภาคอีสานมีพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงเพราะต้องไปทำงานต่างถิ่นถึง 40 % รองลงมาเป็นภาคเหนือ 30 % ตามมาด้วยครอบครัวในภาคกลางและภาคใต้ต่ำสุด และมีแนวโน้มสังคมไทยจะมีสถิติครอบครัวข้ามรุ่น คือมีเด็กและคนแก่อยู่ด้วยกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสังคมยังต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก อีกทั้งครอบครัวไม่มีทักษะการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยและขาดการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน

โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นฯ เริ่มต้นทำงานโดยเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี เน้นการสร้างนวัตกรรมสังคมที่มุ่งให้ทุกฝ่ายมีกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น กิจกรรมพับเหรียญโปรยทาน กลุ่มสตรีได้ดึงกลุ่มเด็กในสภาเด็กเข้ามามีส่วนร่วม และแบ่งปันรายได้ให้กับเด็ก กิจกรรมทำอาหาร เช่น “นึ่งข้าว ตำบักหุ่ง ทอดไก่ เก็บใบตองมาทำขนมเทียน” โดยเด็ก ๆ รวมกลุ่มทำอาหารกินเองมีกลุ่มแม่ๆมาให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครครอบครัว(อสค.) ทำงานรูปแบบเดียวกับอสม.ของกระทรวงสาธารณสุข โดยอสค.จะผ่านการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กตามพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างทักษะสื่อสารกับคนในครอบครัว ซึ่งจาก 1 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านในต.ศรีไคเข้าร่วมทั้ง 11 หมู่บ้านรวม 148 ครอบครัว มีสมาชิกโครงการกว่า 3,000 คน

“พบปัญหาว่าเด็กเล็ก มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า หลังจากที่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้พูดคุยกับปู่ย่าตายายที่มาส่งได้ทราบว่าที่บ้านจะให้เด็กเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต เพราะเมื่อแม่คลอดลูกแล้วจะซื้อแท็บเล็ตไว้ให้ปู่ย่าตายาย เพราะต้องการเห็นหน้าและได้ยินเสียงลูก ซึ่งในครอบครัวมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะเห็นได้ว่าเด็กยังไม่ถึงขวบได้เล่นแท็บเล็ตและมือถือแล้ว ทำให้เกิดพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเพราะใช้อุปกรณ์เหล่านี้เมื่ออายุยังน้อยเกินไป ซึ่งสสส.ไม่ต้องการเข้าไปห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ แต่พยายามหาตัวช่วย ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครครอบครัว (อสค.) เพื่อแบ่งหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านที่มีเด็กเล็กคล้ายๆกับหน้าที่ อสม.” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า จากการสรุปบทเรียน 1 ปีในพื้นที่ ต.ศรีไค พบว่าทุกหมู่บ้านเกิดทีมงานครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง มีกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ ทำงานเชื่อมโยงกันโดยได้รับการกระตุ้น หนุนเสริม โดยฝ่ายวิชาการในพื้นที่ หลังจากนี้จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงกับกลไกที่มีอยู่ในตำบลให้เป็นระบบมากขึ้น เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.)ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) โรงเรียน วัด และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) โดยนำสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่มาหาทางออกร่วมกัน เช่นมีเด็กในครอบครัวไหนที่ไม่ได้รับวัคซีน ผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการดูแล เน้นใช้กลไกจิตอาสา นอกจากนี้จะพัฒนาศักยภาพของทีมชุมชนเพื่อให้เขียนโครงการของบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อนำมาเป็นทุนดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งพบว่าปัจจุบัน ต.ศรีไค กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีตำบลอื่นๆ มาศึกษาดูงานการสร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งแล้ว

นางสุรีย์ ธรรมิกบวร

ด้านนางสุรีย์ ธรรมิกบวร อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าสภาพครอบครัวใน ต.ศรีไค มีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย มีอาชีพเกษตร โครงการฯมุ่งเป้าหมายสร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง โดยถ่ายทอดความรู้เรื่องพัฒนาการครอบครัว ตั้งแต่การแต่งงาน การมีลูก การสื่อสารในครอบครัว ตามแนวทางพัฒนาครอบครัว 5 ดี ได้แก่ 1.อาหารดี หมายถึงอาหารดีต่อสุขภาพที่ครอบครัวร่วมกันทำและรับประทานร่วมกัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 2.ออกกำลังกายดี ครอบครัวออกกำลังกายร่วมกันเหมาะสมตามวัยอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 3.อาสาดี ครอบครัวทำกิจกรรมชุมชนร่วมกันสม่ำเสมอ 4.สื่อสารดี มีเวลาพูดคุยรับฟังกัน ไถ่ถามกันพูดจากันในทางบวก มีเวลานั่งล้อมวงคุยกัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 5.ใส่ใจดี หมายถึงการดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จากการดำเนินงานมา 1 ปีมีกิจกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ได้ในพื้นที่ เช่น พ่อแม่ลูกไปวัดพร้อมกัน ครอบครัวทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน นัดกันปั่นจักรยานไปเยี่ยมชมหมู่บ้านใกล้เคียง พ่อแม่พาลูกไปเยี่ยมกลุ่มทอผ้า ดูฐานเรียนรู้เห็ดเจ็ดชั่วโคตรในชุมชน เป็นต้น

นางวงเดือน นุสาโล สมาชิกกลุ่มสตรีพัฒนาครอบครัว หมู่ 5 บ้านแมด กล่าวว่า ได้เข้าร่วมในโครงการพัฒนาครอบครัวอบอุ่นฯ ทำให้กลับมากอดลูก พูดคุยกัน กินข้าวร่วมกัน การเดินตามหลัก 5 ดีทำให้ครอบครัวมีความสุข รวมถึงการสื่อสารกับสามี เช่นถามเขาว่าเหนื่อยไหมเวลากลับจากทำงาน ซึ่งตอนแรกที่ทำก็รู้สึกเขินแต่พอทำไปแล้วรู้สึกดี ลูกๆก็รู้สึกดีด้วย แล้วเราก็ไปบอกครอบครัวอื่นให้พูดจากันดี ๆ โดยเฉพาะการพูดกับลูกแม้เขาจะทำผิดแต่เมื่อตำหนิแล้วต้องสอนเขาด้วย