ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ฯ รามาฯ ม.มหิดล เปิดตัว 3 หลักสูตรใหม่พยาบาลศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ UIC College of Nursing, University of Illinois at Chicago Deakin University และ Kunming University มุ่งเน้นตอบโจทย์พยาบาลยุคใหม่ที่ต้องมีพหุศักยภาพ มีความรู้ข้ามศาสตร์และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม 617 ชั้น 6 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการแถลงข่าว แถลงข่าว Ramathibodi School of Nursing, “Nursing School of the Future” เพื่อแนะนำโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เปิดตัว 3 หลักสูตรใหม่พยาบาลศาสตร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ UIC College of Nursing, University of Illinois at Chicago Deakin University และ Kunming University มุ่งเน้นตอบโจทย์พยาบาลยุคใหม่ที่ต้องมีพหุศักยภาพ มีความรู้ข้ามศาสตร์และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

พร้อมด้วย รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ศ.พญ.ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Prof. Dr.Terri E. Weaver Dean, UIC College of Nursing ศ. ดร. อัมรินทร์ ทักขิญเสถียร หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ. ดร.สตรีรัตน์ ธาดากานต์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ฝ่ายการศึกษาพยาบาลศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

หลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรที่ 1 Double Degrees (Ramathibodi- Deakin)

เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาการพยาบาลกับต่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นหลักสูตร 5 ปี และศึกษาในชั้นปีที่ 5 ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยนักศึกษาพยาบาลจะได้ปริญญาตรี 2 ใบ จากมหาวิทยาลัยมหิดลและจากมหาวิทยาลัย Deakin ประเทศออสเตรเลีย และได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากประเทศออสเตรเลียด้วย

หลักสูตรที่ 2 Accelerated Program

มุ่งเน้นผู้ที่ค้นพบว่ารักในวิชาชีพพยาบาล สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ซึ่งมีความประสงค์จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้มีการพิจารณาเทียบโอนรายวิชาที่ได้เรียนไปแล้ว ทำให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตจะใช้เวลาในการเรียนเพื่อสำเร็จการศึกษาในระยะเวลาที่น้อยกว่าหลักสูตรปกติ หรือราว 2-3 ปี

หลักสูตรที่ 3 Dual degree (Nursing-Medical epidemiology)

เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ปริญญาตรี-ปริญญาโทต่อเนื่องใช้ระยะเวลา 6 ปี คือนักศึกษาเรียนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตและต่อเนื่องในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการระบาดวิทยาทางคลินิก โดยจะศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรนี้เป็นการขยายโอกาสในอนาคตหลังสำเร็จการศึกษา ในการพัฒนาศักยภาพอันดีเยี่ยม เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปยังหลักสูตรปริญญาเอกได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาช่วยพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิจัย ส่งเสริมศักยภาพด้านการเป็นนักวิจัยทางการพยาบาลสำหรับการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็เพื่อการพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

การเข้าศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตปัจจุบันและหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตแบบใหม่ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ทั้งโชนเอเชียและโซนอเมริกา เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ทั้งด้านการศึกษาและวิจัย เพื่อเพิ่มความเป็น Global citizen และเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาตื่นตัวในการคิดค้นนวัตกรรมทางการพยาบาลใหม่ ๆ นอกจากนี้ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้รับรองสถาบันเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUNQA)เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการเปิดหลักสูตร Double Degree กับ มหาวิทยาลัยคุณหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

สำหรับหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เน้นการเรียนการสอน online มากยิ่งขึ้นแต่ยังคงจัดการเรียนการสอนทางคลินิกสำหรับการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงจากสถานการณ์จริงกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้ขยายความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัย Osaka และมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 3 แห่งจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษารองให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาโททุกคน เพื่อมุ่งผลลัพธ์ในประสิทธิภาพการวิจัย และตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติ นอกจากนี้โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้วางแผนทำหลักสูตร Dual degree ระหว่างหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการระบาดวิทยาทางคลินิก เพื่อเพิ่มพหุศักยภาพของพยาบาลในอนาคต