ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโปรแกรม Long Term Care (3C) รูปแบบสมุดบันทึกสุขภาพดิจิทัลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ หวังพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแกนนำระดับศูนย์อนามัยและพื้นที่ในการใช้โปรแกรม Long Term Care (3C) และชี้แจงการใช้สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุผ่าน Blockchain ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปี 2559 รัฐบาลมีนโยบายจัดระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Care) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลในระดับตำบล กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริการด้านผู้สูงอายุ โดยการพัฒนาระบบโปรแกรม 3C ภายใต้โครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เพื่อสนับสนุนครอบครัวให้มีศักยภาพในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นและเอื้อให้ญาติผู้สูงอายุได้ดูแลกันเองในบ้านและในชุมชน โดยเป้าประสงค์ของการพัฒนา คือ 1) ผู้สูงอายุได้รับคัดกรอง และมีระบบส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ฟื้นฟูและการดูแลระดับความจำเป็นระยะยาว ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี 2) ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง และ 3) มีระบบการเงิน การคลัง ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ครบวงจร

“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมกันพัฒนาระบบโปรแกรม 3C ซึ่งเป็นรูปแบบสมุดบันทึกสุขภาพดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยประกอบด้วยข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ผ่านการอบรม Care Manager Care Giver อาสาบริบาลท้องถิ่น การขึ้นทะเบียน ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรฟื้นฟู Care Manager Care Giver การจัดทำ Care Plan การประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) การรายงานตัวชี้วัด และระบบข้อมูลด้านการเปลี่ยนกลุ่มของผู้สูงอายุ จากกลุ่มติดเตียงเป็นกลุ่มติดบ้านและจากกลุ่มติดบ้านเป็นกลุ่มติดสังคม” รมช.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลเป็นการนำเนื้อหาสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย สมุดผู้พิการ และโภชนาการอาหาร มารวมใน 1 mobile application ให้เสมือนเป็นห้องบันทึกสุขภาพประชาชนซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งมีข้อดีคือ 1) ประชาชนเข้าใจปัจจัยกำหนดสุขภาพและมีข้อมูลด้านสุขภาพติดตัวบนระบบ Android 2) เกิดระบบข้อมูลสุขภาพของบุคคลในครอบครัวส่งผลต่อการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวด้วยกันเองแล้วก่อให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) 3) ระบบการส่งต่อข้อมูลสุขภาพระหว่างกลุ่มวัยผ่านระบบโปรแกรมที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและการส่งต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และ 4) ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตสมุดบันทึกสุขภาพในแต่ละปี

“ทั้งนี้ การพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัล กรมอนามัยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกรมอนามัยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีเนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดการขยายผลการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลในระดับพื้นที่ พร้อมมีแผนขยายผลในระยะต่อไป คือ 1) เพิ่มสมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย เช่น สมุดแบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองสำหรับนักเรียน ป.5-ป.6 สมุดแบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองสำหรับนักเรียน ม.1 - ม.6 2) เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการให้วัคซีนในกลุ่มวัย หรือแยกเป็นสมุดวัคซีน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ 3) ขยายผลการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ทุกหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว