ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ร่วมสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ชี้ภาคเหนือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ห่วงอยู่โดดเดี่ยว เจ็บป่วย รายได้ไม่พอ ขณะที่เทศบาลตำบลแม่ปูคา จ.เชียงใหม่ ต้นแบบแก้ปัญหาฆ่าตัวตายด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ทำแผนที่เดินดินให้ อสม. เคาะประตูบ้านดูแลพูดคุยผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง/สูงอายุ สร้างสุขภาพกาย-ใจ ลดซึมเศร้า-ฆ่าตัวต่าย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เวทีสานพลังสูงวัยสร้างเมือง” โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดงานเวทีสานพลังสูงวัยสร้างเมือง เพื่อขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น พร้อมเสนอทางเลือกนโยบายสาธารณะในการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผลการสำรวจในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุราว 11 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าภายในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีคนไทยที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ราว 20% ของประชากรทั้งหมด สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือมีข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือ มีผู้สูงอายุ จำนวน 818,544 คน (23.97%) สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ นำมาสู่ปัญหาและความต้องการการดูแลช่วยเหลือที่เหมือนและแตกต่างกัน เช่น ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รายได้ไม่เพียงพอ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและมีความพิการ เป็นต้น

นางสาวดวงพร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ปัญหาและความต้องการดังกล่าว สสส. ได้ดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุของชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมกับสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 4 สถาบันวิชาการ ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 25 ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น เป็นการถอดบทเรียนรู้ ตำบลเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นต้องดำเนินการดูแลในลักษณะต่างๆ โดยการนำใช้ทุนทางสังคมของพื้นที่ อย่างน้อย 3 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1) การจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น การสนับสนุนงบประมาณหนุนเสริมแหล่งเรียนรู้ 2) การจัดบริการของหน่วยบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์ดูแลระยะยาว ศูนย์กายอุปกรณ์ การจัดบริการดูแลกลางวัน (day care) ร่วมกับ อปท. และ 3) ภาคประชาชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มอาชีพ กองทุนออมบุญ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ด้านนางจิดาภา อิ่นแก้ว ประธานชมรมอุ่นใจ เทศบาลตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตำบลแม่ปูคา ประสบปัญหาเพศชายในวัยทำงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง จากสถิติของโรงพยาบาลสันกำแพงพบว่าในปี 2552-2554 มีอัตราการฆ่าตัวตายของคนวัยทำงานถึงปีละ 4-5 คน เมื่อทางทีมงาน อสม. ได้ลงเยี่ยมบ้านพบว่า นอกจากปัญหาการฆ่าตัวตายแล้ว ยังพบว่า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงส่วนมากต่างหลายคนมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เนื่องจากการสูญเสียลูกหลานที่ฆ่าตัวตาย หรือลูกหลานไม่มีเวลาพูดคุยกับผู้สูงอายุ ดังนั้น การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายและต้องดูแลภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุควบคู่กันไป ซึ่งเป็นที่มาของชมรมอุ่นใจที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2553

“นอกจากปัญหาการฆ่าตัวตายแล้วที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ และยังอีกสาเหตุหนึ่งที่พบคือ ลูกหลานไม่มีเวลาที่จะมาพูดคุยกับผู้สูงอายุ เพราะต้องทำงานนอกบ้าน วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปแตกต่างจากในอดีต ดังนั้นพูดคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีได้เช่นกัน โดยมี อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิต Caregiver จะเข้ามาดูแลด้วยการเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งพบว่า การที่มี อสม.เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยในปีที่ผ่านชมรมอุ่นใจ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) สสส.ทั้งในเรื่องของงบประมาณและองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของสื่อความรู้ต่างๆ รวมทั้งการทำแผนที่เดินดินเพื่อวางแผนระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การอบรมให้ความรู้แก่ อสม.ที่เป็น Caregiver และให้การสนับสนุนในการอบรมกับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอีกด้วย”นางจิดาภา กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบลระดับบุคคลและครอบครัว (TCNAP) พบว่า ตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มเปราะบาง จำนวน 2,237 คน ของ ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง 24 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 14 คน คนยากจน 857 คน และ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1,159 คน นอกจากนี้ยังมี ผู้ป่วยจิตเวชที่รับยาต่อเนื่องและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ จำนวน 19 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 1,231 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ช่วยตนเองได้ดี (ติดสังคม) 1,126 คน กลุ่มที่พอช่วยเหลือตนเองได้บ้าง (ติดบ้าน) 72 คน กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (ติดเตียง) 33 คน กลุ่มผู้พิการ คนพิการทั้งหมด จำนวน ผู้พิการ 174 คน นับว่าเป็นรูปธรรมของการเรียนรู้ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องของชุมชนท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง