ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เป็นประเด็นแรกๆ ที่ถูกพูดถึงมานานนับเดือน จนถึงปัจจุบันก็ยังถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่มักพบบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาระบายความคับข้องใจหรือบอกเล่าสภาพความขาดแคลนให้ผู้คนได้รับทราบ ยิ่งการแพร่ระบาดลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ความเดือดดาลของเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 30 มี.ค. 2563 ทบทวนมาตรการต่างๆ โดยในส่วนของแผนการกระจายหน้ากากอนามัยนั้น จะล้างตัวเลขเก่าทั้งหมดที่เคยมีมาก่อน และจัดทำแผนการกระจายใหม่ ให้ 2 หน่วยงาน คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันละ 1.3 ล้านชิ้น จัดส่งให้ที่โรงพยาบาลจังหวัดเพื่อจัดสรรต่อแก่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และกระทรวงมหาดไทย (มท.) วันละ 1 ล้านชิ้น จัดส่งให้ที่ศาลาว่าการจังหวัดเพื่อกระจายให้บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่บริการประชาชนและมีความเสี่ยง เช่น ศูนย์ดำรงธรรม เจ้าหน้าที่อำเภอ เจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัด พนักงานขนขยะ ตำรวจ/ทหารที่ตั้งด่านตรวจ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือคนชราอายุ 70 ปีขึ้นไป เด็ก และผู้ป่วย

"ทั้งหมดนี้ยังไม่ถึงมือประชาชน ยังไม่ไปถึงร้านค้า แต่ช่วยอดทนแบบนี้ไปสัก 3-4 วัน หลังจากบุคลากรภาครัฐจะมีหน้ากากพอใช้ไประยะหนึ่ง แล้วจะปรับแผนการจ่าย เปลี่ยนเป็นจ่ายให้แก่ประชาชนและร้านค้า" นายวิษณุ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนการส่งหน้ากากออกไปต่างประเทศ ถ้าส่งออกโดยมีสัญญาว่าจ้างหรือสั่งซื้อกันให้เป็นอันยกเลิก ไม่ให้นำออกแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ยังมีความจำเป็นต้องส่งออก 3 ประการ 1.ส่งออกเพราะได้รับ BOI 2.ส่งออกเพราะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา 3.มีสัญญา FTA ระหว่างประเทศต่อกัน 3 อย่างไรก็ดี จะพยายามไปเจียดแบ่งมาใช้ในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น กรณีได้ BOI ในมาตรา 47 กำหนดว่า แม้จะส่งออกได้แต่ถ้ารัฐมีมาตรการเพื่อความมั่นคงอาจจะห้ามส่งออกได้ ซึ่งรัฐพร้อมที่จะใช้มาตรานี้สั่งหยุดไม่ให้มีการส่งออกหรือแบ่งมาส่วนหนึ่งเพื่อเอามาใช้ในประเทศ

ส่วนเอกชนที่ต้องการนำเข้าหน้ากากอนามัย เครื่องมือหรือยาที่เกี่ยวกับโควิด-19 เข้ามาในประเทศ ขณะนี้ กรมศุลกากรและกระทรวงการคลังได้ออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสำหรับหน้ากากเป็น 0% ตั้งแต่ 20 มี.ค.2563 ส่วนน้ำยา เวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือ เครื่องตรวจต่างๆ กำลังจะมีการยกเว้นภาษี โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายการว่ามีอะไรบ้าง และจะประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าใน 2-3 วันนี้เช่นกัน

ขณะที่ในส่วนของ สธ. เดิมทีการนำเข้าเวชภัณฑ์เหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้เวลาเป็นเดือน แต่ขณะนี้ปรับระบบให้ อย.ใช้เวลาตรวจไม่เกิน 1 วัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจอีกไม่เกิน 4 วัน รวมเป็น 5 วันก็สามารถปล่อยสินค้าออกมาได้ ดังนั้นใครจะนำเข้าเพื่อบริจาคหรือนำเข้าเพื่อเหตุใดก็ตาม ถ้าใช้เวลาเกิน 5 วันถือว่าผิดปกติ

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 7-28 มี.ค. 2563 สธ.ได้รับการจัดสรรหน้ากาก Surgical Mask ไปแล้ว 19.59 ล้านชิ้น แบ่งเป็น

โรงพยาบาลในสังกัด สธ.

- สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 10.35 ล้านชิ้น

- สังกัดกรมอื่นๆ 0.56 ล้านชิ้น

โรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 0.77 ล้านชิ้น

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 2.48 ล้านชิ้น

โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกต่างๆ 4.28 ล้านชิ้น

โรงพยาบาลสังกัด กทม. 1.15 ล้านชิ้น

ทั้งนี้ ได้ปรับแผนการกระจายหน้ากากตั้งแต่ 30 มี.ค. 2563 ยอดจัดสรร 1.3 ล้านชิ้น/วัน กลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรสาธารณสุข ส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น

โรงพยาบาลในสังกัด สธ. 8 แสนชิ้น/วัน แยกเป็น

- สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6.5 แสนชิ้น/วัน

- สังกัดกรมอื่นๆ 1.5 แสนชิ้น/วัน

โรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 1 แสนชิ้น/วัน

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 1.5 แสนชิ้น/วัน

โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกต่างๆ 1.5 แสนชิ้น/วัน

โรงพยาบาลสังกัด กทม. 1 แสนชิ้น/วัน

ส่วนหน้ากาก N95 ช่วงวันที่ 7-28 มี.ค.2563 กระจายไปแล้ว 183,910 ชิ้น แบ่งเป็น

โรงพยาบาลในสังกัด สธ. แยกเป็น

- สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 117,950 ชิ้น

- สังกัดกรมอื่นๆ 43,210 ชิ้น

โรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 3,230 ชิ้น

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 2,690 ชิ้น

โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกต่างๆ 14,410 ชิ้น

โรงพยาบาลสังกัด กทม. 1,570 ชิ้น

ทั้งนี้ จากการคาดคะเนความต้องการที่จำนวนผู้ป่วย 10,000 คน ต้องใช้ 5 แสนชิ้น หรือ 17,000 ชิ้น/วัน โดยมีการหาแหล่งที่มาคือนำเข้าจากบริษัท 3M จำนวน 200,000 ชิ้น กำหนดส่งในวันที่ 10 เม.ย. อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าจะทยอยได้แค่หลักหมื่นเพราะอาจมีปัญหาการส่งหน้ากากที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการเจรจาซื้อจากบริษัท สยามโคเค็น จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานในประเทศที่ผลิตเพื่อส่งออก เบื้องต้น 100,000 ชิ้น/เดือน และนำเข้าจากประเทศจีนแบบรัฐต่อรัฐโดย โดยทางจีนตอบรับว่าจะขายให้ 1.3 ล้านชิ้น และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมนำเข้าทันที 400,000 ชิ้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน้ากาก N95 คงคลังในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. 172,556 ชิ้น คงคลังที่ อภ. 53,995 ชิ้น

ทั้งนี้ ในการจัดสรรทรัพยากรที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีนจะจัดส่งภายในวันที่ 31 มี.ค.2563 นี้ แบ่งเป็น

Surgical Mask 100,000 ชิ้น กระจายในโรงพยาบาลต่างจังหวัดตามสถานการณ์คนไข้

Testing Kits 20,000 ชิ้น จัดสรรให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

หน้ากาก N95 10,000 ชิ้น กระจายในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 50%

ชุด PPE 2,000 ชุด กระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ

ส่วนสิ่งของที่กลุ่มอาลีบาบาบริจาคมานั้น หน้ากากที่ได้รับเป็นหน้ากากกันฝุ่น เน้นมอบให้ภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่นควัน ส่วนชุดต่างๆกระจายให้โรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี 10,000 ชุด โรงพยาบาลศิริราช 10,000 ชุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 10,000 ชุด และใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดรุนแรงอีก 20,000 ชุด หน้ากากอนามัย 300,000 ชุด ส่งให้จังหวัดภาคใต้ซึ่งมีการระบาดอย่างมาก คาดว่าการกระจายเสร็จสิ้นในสัปดาห์นี้

ในส่วนของยา Favipiravir ประเทศไทยเพิ่งได้มา 24,000 เม็ด ขณะนี้เหลือ 23,910 เม็ด กระจายให้หน่วยบริการทั่วประเทศ 21,310 เม็ด และเก็บที่ อภ. 2,600 เม็ด และคาดการณ์ความต้องการในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 100,000 เม็ด ซึ่งได้มีแผนจัดหาจากประเทศญี่ปุ่น 240,000 เม็ด โดยวันนี้จะได้รับ 40,000 เม็ด และภายในเดือน เม.ย.อีก 200,000 เม็ด นอกจากนี้ยังจะจัดซื้อจากประเทศจีนอีก 100,000 เม็ด คาดว่าจะได้รับในเดือน เม.ย.นี้

"คิดว่าคงไม่เกิดสภาพการขาดยา แต่ต้องเลือกจ่ายให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยาจริงๆ ไม่ได้จ่ายให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย" นพ.สุขุม กล่าว

ด้าน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่ามีหน้ากาก Surgical Mask ในสต๊อก 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นการสื่อสารผิดพลาด ความจริงแล้วผู้ผลิตบอกว่าถ้ามีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ วัตถุดิบในสต๊อก ณ เวลานั้น จะสามารถผลิตได้อีก 200 ล้านชิ้น ไม่ได้หมายความว่ามีหน้ากากในสต๊อก 200 ล้านชิ้น

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ไทยมีโรงงานผลิตหน้ากาก 11 โรงงาน มีกำลังผลิตในสถานการณ์ปกติ 1.2 ล้านชิ้น/วัน หรือ 36 ล้านชิ้น/เดือน โดยมีความต้องการในภาวะปกติ 30 ล้านชิ้น/เดือน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิด-19 ขึ้นมา ความต้องการหน้ากากเพิ่มมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จึงขอแบ่งมาบริหารจัดการ 50% ของกำลังการผลิต ส่วนอีก 50% ให้โรงงานทำธุรกิจตามปกติ

"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการส่งของให้สถานพยาบาลน้อยลงและราคาสินค้าในตลาดสูงขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้ พณ.จึงออกประกาศเอากำลังการผลิตทั้งหมดมาบริหารจัดการเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากเพียงพอ และบางส่วนจำหน่ายแก่ประชาชน" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน พณ. ยังได้ขอความร่วมมือจากโรงงานให้เพิ่มกำลังการผลิต โดย ณ วันที่ 30 มี.ค.2563 กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2.3 ล้านชิ้น/วัน และเพิ่มเป็น 2.86 ล้านชิ้น/วัน กลางเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังผลิต 2.3 ล้านชิ้น/วันในขณะนี้ เท่ากับมีหน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อประชากร 28 คน จึงต้องเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ เน้นจัดให้ผู้ที่มีความต้องการสูงสุด โดยให้ มท. บริหารจัดการในพื้นที่เพราะทราบว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อสม. กลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อ หรือเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยจะกระจายไปที่ศาลาว่าการจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.เป็นต้นไป แบ่งเป็น กทม.ได้วันละ 100,000 ชิ้น ภาคเหนือวันละ 164,000 ชิ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันละ 332,000 ชิ้น ภาคกลาง 237,000 ชิ้น และภาคใต้ วันละ 167,000 ชิ้น