ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

7 เมษายน 2563

"...38 คน..." หัวใจพองโต

วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงติดต่อกันมาเป็นวันที่ 2 จากเดิมเมื่อวานซืน 102 --> เมื่อวาน 51 --> วันนี้ 38

เป็นสถิติน้อยสุดเท่าที่มีมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563...หากจำไม่ผิด

นี่จึงเป็นตัวตอกย้ำว่า มาตรการที่รัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนได้ร่วมกันทำมานั้น ถูกทางแล้ว ออกดอกออกผลให้เราเห็น

อย่างไรก็ตาม มีอะไรให้เราได้คิด เมื่อดูรายละเอียดของเคสใหม่

มีบุคลากรทางการแพทย์อีก 3 คนที่ติดเชื้อใหม่ มีอยู่อย่างสม่ำเสมอทุกวันที่ประกาศออกมาในช่วงนี้ จนหลายคนอาจรู้สึกชาชิน

ชาชิน...ชินชา...แต่อย่าเฉยเมยเลย

ยังไม่นับที่เราได้ข่าวกันล่าสุดที่ผู้ป่วยไม่บอกประวัติเสี่ยง จนต้องมีการกักกันบุคลากรกว่าร้อยคนเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อหลังจากที่มาทราบประวัติในเวลาต่อมา

ดูลักษณะคนที่ติดเชื้อใหม่ เราพอจะจำแนกได้ 5 กลุ่มหลัก คือ

1. คนที่ติดจากครอบครัว หรือคนใกล้ชิด โดยไม่ได้ป้องกัน หรือคิดว่าไม่น่าจะเป็นโรคนี้แม้จะมีอาการเหมือนไข้หวัด หรือแม้จะเพิ่งเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง

2. คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ

3. คนที่ยังต้องออกมาทำงาน ใช้ชีวิตข้างนอก เพราะที่ทำงานไม่หยุด

4. คนที่รักสะดวกสบายรักสนุก รักเพื่อนพ้อง ดื่มด่ำกับแสงสีเสียง เฮฮาปาร์ตี้และฤทธิ์น้ำเมายาเสพติด หรือรู้สึกฮึกเหิมชอบท้าทายกฎระเบียบ

5. บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดจากการทำงาน ทั้งจากอุปกรณ์ป้องกันที่จำกัด และจากการปิดบังประวัติของผู้ป่วย


 

ตัวเลขติดเชื้อที่น้อยลงมา 2 วันนี้ แม้ดูจะทำให้ใจชื้นขึ้นบ้าง แต่ก็ยังท้าทายไทยเราว่าจะทำได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ลดลงกว่านี้ได้อีกไหม และจะเพียงพอที่จะทำให้ปัญหาการระบาดนี้อยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขจัดการได้โดยไม่เกินกำลังหรือไม่?

มาตรการที่รัฐทำตอนนี้ ยังไม่ถึงขีดสุด และยังไม่ใกล้เคียงขีดสุด เพราะอยากให้กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้น้อย และให้พอหายใจหายคอได้ แต่เชื่อในใจลึกๆ ว่า เราทุกคนก็อยากจะ End Game นี้ให้เร็วที่สุด ไหนๆ จะเจ็บแล้วก็ยอมเจ็บ แต่ขอให้จบ

สิ่งที่รัฐได้ทำไปตอนนี้ ได้แก่ การจัดการปิดสนามบินอีก 2 สัปดาห์เพื่อหวังบรรเทาหรือชะลอจำนวนคนติดเชื้อจากต่างประเทศ การห้ามออกจากเคหะสถานเพื่อหวังห้ามสายบันเทิงและสายราตรี และการพยายามเต็มที่ในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รวมถึงหยูกยาเตรียมรับดูแลผู้ป่วยให้เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่วันนี้ ได้มีหลักฐานชี้ให้เราเห็นว่า กลุ่มคนในครอบครัวที่ติดเชื้อระหว่างกัน กลุ่มคนที่ยังต้องทำงานและสัญจรสาธารณะ รวมถึงกลุ่มสายท้าทายกฎหมาย ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย

การจะทำให้จำนวนคนติดเชื้อลดลงไปกว่านี้ และลดอย่างยั่งยืน คงจะหนีไม่พ้นการที่รัฐควรพิจารณาปิดจุดตายทั้ง 3 จุดข้างต้น

หนึ่ง เสริมมาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญสำหรับคนในครอบครัวที่จะไปตรวจคัดกรองโรค และแยกตัวออกจากสมาชิกในบ้านหรือคนใกล้ชิด และลดความประมาท ความกลัว และการตีตรา ทั้งในครอบครัวและในชุมชน

สอง เพิ่มความเข้มงวด "เอาจริง" กับกลุ่มสายบันเทิงเริงร่าท้าทายกฎหมาย

สาม พิจารณาเรื่องการลดจำนวนคนทำงานทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สี่ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น ง่ายขึ้น เพื่อให้เราสามารถเห็นสถานการณ์ได้ชัดเจน และวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผม เงื่อนเวลาที่ใช้ตัดสินสงครามนี้คือ สงกรานต์นี้ ปลายเมษายนนี้ และปลายพฤษภาคมนี้ครับ

หากพวกเราชาวไทย ช่วยกันกดให้เคสติดเชื้อใหม่ต่ำไปเรื่อยๆ ได้

ผมบอกตรงๆ ว่า เรามีลุ้นที่จะสร้างประวัติศาสตร์ในการควบคุมป้องกันโรคนี้...แบบไทยแลนด์โมเดล

นั่นคือ จัดการมัน อยู่กับมัน และควบคุมมันได้ แม้ตัวเชื้อไวรัสจะฝังตัวอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่งก็ตาม

ที่สำคัญคือ เราต้องอยู่อย่างมีสติ ดีใจได้ แต่ต้องไม่เหลิง

ญี่ปุ่นเคยกดเคสใหม่ให้ลดลงและคงที่ได้เป็นเดือน แต่สุดท้ายเค้ากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะพฤติกรรมการระแวดระวังป้องกันตัวของประชาชนเค้าลดลงไป เปิดคางให้ไวรัสหาทางกลับมายึดครองอำนาจอีกครั้ง

ขอพลังจงอยู่กับเราทุกคน...

สู้ไปด้วยกันครับ...

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ

#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน

#บริจาคอุปกรณ์ป้องกันให้โรงพยาบาลหากมีเกินความต้องการ

#ช่วยเหลือแบ่งปันอาหารและน้ำให้แก่ผู้ยากไร้ใกล้บ้าน

#เป็นหูเป็นตาคอยสังเกตหากมีใครปฏิบัติไม่เหมาะสมโปรดแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

...ไทยต้องทำได้ครับ...

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล