ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เมษายน 2563

...111 คน...คือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รัฐรายงานในวันนี้

1 ใน 3 ของจำนวนที่ติดเชื้อใหม่ทั้งหมด เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

อีก 1 ใน 3 เป็นคนที่ติดเชื้อจากการไปสัมผัสหรือติดต่อกับคนที่เป็นโรค COVID-19 มาก่อน

ที่น่าสนใจคือ เราพบว่าคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะตรวจพบการติดเชื้อหรือมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อสูงกว่าคนทั่วไปในประเทศ

2 กลุ่มข้างต้นจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักๆ ที่เราต้องช่วยกันวางแผนแก้ไข

"หาก"ดูสถิติย้อนหลังที่ผ่านมา คาดว่าพรุ่งนี้เราจะแตะเส้น 12% ได้

"หาก"ไม่มีอะไรเซอร์ไพรซ์ เราจะแตะเส้น 10% ได้ ณ วันที่ 15 เมษายน 2563 ครับ นั่นคือเราใช้เวลาประมาณ 12 วันในการกดความชันของกราฟการระบาดจาก 15% ให้มาที่ 10%

"หาก" เป็นเช่นนั้น คาดว่าเราจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 สะสมราว 2,780-3,057 คน

มองในแง่ดี...เราฉุดการระบาดจากเส้น 33% มา 10% ได้

แต่ด้วยตัวเลขนี้ จัดเป็นภาระที่หนักหนาเอาการสำหรับระบบสาธารณสุข ในสถานการณ์ที่อุปกรณ์ต่างๆ ยังมีความจำกัด หากพ้นสงกรานต์ไปแล้วยังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ตราบใดที่ยังไม่สามารถกดจำนวนเคสใหม่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ทุกวัน เราก็คงจะยังหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะแต่ละรายที่ติดเชื้อ กว่าจะหายจากการติดเชื้อก็จะใช้เวลานานหลายสัปดาห์ โอกาส end game ก็จะช้าลงไปตามลำดับ

ช่วงสงกรานต์นี้ ปลายเมษายนนี้ และปลายพฤษภาคมนี้ ถือเป็นจุดวัดผลในระยะสั้นที่ควรใช้พิจารณาประสิทธิภาพของมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ

ถ้าพูดตรงๆ ตอนนี้เราเหมือนกำลังเหยียบเบรกแบบกดเท้าลงไปครึ่งนึง ทำให้การระบาดดูจะช้าลงกว่าเดิมอย่างที่เห็นมา

แต่ด้วยความเร็วที่เป็นอยู่ ยังดูไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการระบาดได้ในระยะเวลาอันใกล้

จึงต้องวัดใจกัน ว่าจะตัดสินใจกดแป้นเบรกลงไปมากกว่านี้ไหม

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเราอาจไม่ต้องกระทืบเบรกไปจนมิด เพราะหน้าจะคว่ำและบาดเจ็บหนักได้ แต่สนับสนุนให้รัฐบาลลงน้ำหนักมากขึ้น

ลงไปที่ไหนดี?

ลงน้ำหนักไปที่...แผนการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศที่รอบคอบ เป็นจังหวะจะโคน จัดสรรและกระจายอย่างเหมาะสมกับกำลังของระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษา และระบบเฝ้าระวังและกักตัวสังเกตอาการ

ลงน้ำหนักไปที่...มาตรการลดจำนวนคนทำงานในภาครัฐและเอกชนให้น้อยกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่นในต่างจังหวัด

ลงน้ำหนักไปที่...การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนออกนอกเคหะสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันควร

และสุดท้ายคือ การทำ Active case finding หรือสนับสนุนให้มีการคัดกรอง เข้าถึงการตรวจโรค COVID-19 ให้มากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อหวังจะสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งที่ไม่มีอาการ และมีอาการ และนำเข้าสู่กระบวนการดูแลสังเกตอาการ และรักษาพยาบาลให้หายดี ก็จะทำให้เราได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเค้า ครอบครัว คนใกล้ชิด และประเทศก็จะสามารถวางแผนจัดการสถานการณ์ได้แม่นยำขึ้น ป้องกันการแพร่เชื้อ และนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ในที่สุด

ส่วนประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ขอให้มีกำลังใจ มุ่งมั่น ป้องกันตัวเราเองและสมาชิกในครอบครัว ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำ

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ

#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน

#ช่วยเหลือแบ่งปันอาหารและน้ำแก่คนยากไร้ใกล้บ้าน

#บริจาคอุปกรณ์ป้องกันแก่โรงพยาบาลหากมีเพียงพอแล้ว

...ประเทศไทยต้องทำได้ครับ...

...สู้ไปด้วยกันนะ...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล