ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันเพื่อการวัดผลและประเมินผลด้านสุขภาพ (IHME) ออกรายงานฉบับใหม่ ประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ทั่วโลก โดยพบว่า อังกฤษจะเป็นประเทศที่ถูกโรคโควิด – 19 โจมตีหนักที่สุดในยุโรป จนตัวเลขผู้เสียชีวิตจะคิดเป็นอัตรามากกว่า 40% ของภาคพื้นทวีป นอกจากนี้ ยอดผู้เสียชีวิตของอังกฤษ จะสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คืออยู่ที่ 6.6 หมื่นคน เป็นรองเพียงสหรัฐเมริกาเท่านั้น

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวประเมินจากค่า “ความชัน” ของกราฟ เริ่มตั้งแต่วันที่อังกฤษ มีผู้ป่วย 100 คน เป็นวันแรก ก่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยระหว่างวันที่ 6 – 8 เม.ย. ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวัน เพิ่มขึ้นในระดับ 700 – 800 คน ซึ่ง IHME ประเมินว่าจุดสูงสุดของกราฟ จะอยู่ที่วันที่ 14 – 20 เม.ย. หรือในสัปดาห์หน้า โดยในวันที่ 17 เม.ย. จะมียอดผู้เสียชีวิต “พีค” ที่สุดคือ 2,932 คน

นักวิจัยจาก IHME ยังประเมินอีกว่า อังกฤษนั้นผิดพลาดในระยะแรก หลังจากเกิดลังเลว่าจะปล่อยให้ “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ Herd Immunity ทำงาน แทนมาตรการที่ประเทศอื่นในยุโรปตัดสินใจเริ่มเร็วกว่า อย่าง Social Distancing หรือการปิดเมือง ปิดออฟฟิศ และให้งดออกจากบ้าน กว่าอังกฤษจะเริ่ม “ล็อกดาวน์” ได้ ก็ดีเลย์ไปถึงวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าวันละ 54 คนแล้ว ต่างกันอย่างมากกับโปรตุเกส ซึ่งใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ทันที หลังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มวันละ 1 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามโมเดลของ IHME ประเมินว่าในวันที่ 4 ส.ค. หรืออีก 4 เดือนข้างหน้า ผู้เสียชีวิตทั่วอังกฤษจากปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 7,059 จะเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เป็น 66,314 คน เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขผู้เสียชีวิต 14,797 คน ในเดือน ส.ค. จะมีตัวเลขผู้เสียชีวิต 81,766 คน

สำหรับตัวเลขดังกล่าวส่วนหนึ่ง ถูกคำนวณจากฐานข้อมูลของ ศาสตราจารย์ นีล เฟอร์กูสัน จาก Imperial College London ซึ่งระบุว่า ณ เวลานี้ “ดีมานด์” ด้านการรักษาพยาบาล ในอังกฤษ สูงกว่า “ซัพพลาย” ไม่ว่าจะเป็นเตียงโรงพยาบาล หรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตกว่า 2 เท่า ซึ่งจะทำให้อัตราตาย เพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก

IHME ระบุอีกว่า ในช่วงเวลาที่พีคที่สุด คือวันที่ 17 เม.ย. นั้น จะมีความต้องการเตียงสูงถึง 102,000 เตียง แต่ ณ ปัจจุบัน มีเตียงอยู่เพียง 18,000 เตียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ยังขาดอีกมากกว่า 85,000 เตียง ในห้องผู้ป่วยวิกฤต หรือ ICU ก็ต้องการเตียงจำนวนมหาศาลถึง 24,500 เตียง แต่ตอนนี้ มีเตียง ICU เพียง 799 เตียงเท่านั้น ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังต้องการเครื่องช่วยหายใจมากกว่า 21,000 ซึ่งความขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้ จะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงตามโมเดลดังกล่าว

ส่วนตัวเลขของประเทศในยุโรปอื่นๆ นั้น IHME ประเมินว่าที่อิตาลี ซึ่ง ณ เวลานี้ มีผู้เสียชีวิต 17,669 คน และกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” โดยเมื่อถึงเดือน ส.ค. จะมีผู้เสียชีวิต 20,300 คน สเปน ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 14,797 คน จะเสียชีวิต 19,209 คน โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ IHME ระบุว่าได้ผ่านช่วงพีคไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ ฝรั่งเศส ซึ่งตอนนี้มีผู้เสียชีวิต 10,869 คน อีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิต 15,058 คน และเยอรมัน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2,349 คน จะเสียชีวิต 8,802 คน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ IHME ระบุว่ามีผลสำคัญที่สุดต่อจำนวนผู้เสียชีวิตก็คือ มาตรการ Social Distancing และมาตรการ “ล็อกดาวน์” นั้น ถูกบังคับใช้ได้เร็วขนาดไหน เพราะหากช้าไปเพียงนิดเดียว จำนวนผู้ป่วยจะล้นทะลัก จนเตียงโรงพยาบาล และห้อง ICU ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ จนทำให้มีผู้ป่วยหนักจำนวนหนึ่งถูกละทิ้ง ไม่สามารถรักษาได้ทันเวลา

สำหรับประเทศที่เตียงพอ ห้อง ICU พอ จนทำให้ผู้เสียชีวิตไม่สูงมากคือ เยอรมัน ส่วนฝรั่งเศสนั้น เตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด – 19 ทั่วไปนั้นเพียงพอ แต่จะขาดเตียง ICU ราว 4,000 เตียงในช่วงพีค

ส่วนสหรัฐอเมริกา IHME ประเมินว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะไม่สูงถึง 200,000 คนอย่างที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แต่จะอยู่ที่ราว 81,800 คน ซึ่งก็ถือว่าสูงมากอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว The Guardian ไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นีล จาก Imperial College of London ระบุว่า ข้อมูลที่ IHME อ้างถึงนั้น เป็นข้อมูลเก่า โดยจำนวนเตียง และจำนวนผู้เสียชีวิตในปัจจุบัน สูงกว่าฐานข้อมูลที่ IHME นำมาประเมินถึง 2 เท่า

แต่ IHME ก็ยืนยันว่าข้อมูลที่ได้ อัพเดทอย่างต่อเนื่องทุกวัน และ ณ ขณะนี้ อังกฤษ ยังคงมุ่งหน้าไปสู่จุดพีค ตามที่กำหนดไว้ในโมเดล โดยระบุว่าสถานการณ์ที่ดูเหมือนแย่ในปัจจุบัน ยังเป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น

คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบัน IHME บอกว่า ตัวเลขจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศนั้น ได้เริ่มมาตรการ Social Distancing ได้ทันเวลาหรือไม่ และมาตรการนั้นถูก “บังคับใช้” ได้ดีขนาดไหน

เขายังได้ออกมาเตือนว่า หาก “ผ่อนปรน” กฎ เร็วเกินไป เหมือนที่หลายประเทศในยุโรปกำลังพยายามทำ อาจทำให้เกิดคลื่นลูกที่สอง ที่ทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ซึ่งอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 0.3 คน ต่อ 1 ล้านประชากรในช่วงท้ายของคลื่นลูกนี้

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะป้องกันการระบาดรอบสองก็คือ มาตรการ Social Distancing ต้องได้ผล ต้องบังคับใช้ได้จริง, ต้องมีการระดมตรวจเชื้ออย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน การติดตามการระบาด และการกักกันโรค ก็ยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนใช้ มีการผลิตอย่างกว้างขวาง และกระจายไปทั่วโลก” คริสโตเฟอร์ระบุ

ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมอังกฤษ ระบุว่า NHS หน่วยงานสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ได้เตรียมเตียงเพิ่มไว้มากกว่า 33,000 เตียง ซึ่งเท่ากับการสร้างโรงพยาบาลใหม่ 50 แห่ง รวมถึงได้เตรียมเครื่องช่วยหายใจ และโรงพยาบาลสนามอีกหลายแห่ง เพื่อเตรียมรับช่วงพีค ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่า สถานการณ์ จะไม่แย่อย่างที่หลายฝ่ายประเมิน

โดย สุภชาติ เล็บนาค

อ้างอิงจาก

Coronavirus: UK will have Europe's worst death toll, says study (https://www.theguardian.com)

โมเดลประเมินของ IHME

Correction in Uncertainty Intervals for Cumulative COVID-19 Death Forecasts in Europe (www.healthdata.org)