ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จังหวัดชายแดนใต้เตรียมรับมือเดือนรอมฎอน คาดใช้มาตรการลดกิจกรรมรวมตัวทางศาสนา ป้องกัน โควิด-19 แพร่ระบาด

ในวันที่ 23 เม.ย. หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเป็นวันเริ่มต้นของเดือนรอมฎอนตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีการรวมตัวของชาวมุสลิมจำนวนมากในมัสยิด เพื่อทำการละหมาดร่วมกันในทุกคืน ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงเกิดข้อกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคในระหว่างที่ชาวมุสลิมประกอบพิธีกรรมรวมกัน โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อจากพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา

ชาวมุสลิมทุกมัสยิด ใน 12 อำเภอของปัตตานี ร่วมละหมาดฮายัด ให้ชาวไทยและเพื่อนร่วมรอดพ้นจาก ไวรัสโควิด-19 แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจห่วงใยกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.63 ภาพจากไทยรัฐ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ช่วงเดือนรอมฎอนจะเป็นช่วงที่ชาวอิสลามกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบพิธีถือศีลอด รวมทั้งผู้ที่ไปทำงานในมาเลเซีย ซึ่งยังคงตกค้างอยู่ในฝั่งมาเลเซียและได้มาลงทะเบียนขอกลับประเทศไทยกับสถานกงศุลไทยที่ปีนังมากกว่า 1,200 คน ตั้งแต่มีการประกาศปิดด่านเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

“หากมีการเปิดด่าน ภาคสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับมือ เช่น คัดกรอง ทำ Local quarantine (การกักตัวผู้เสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่)” นพ.สุภัท รกล่าว

“ช่วงรอมฎอนมีความสำคัญมาก ถือว่าเป็นช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ของการควบคุมการระบาดของโรคในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทางใด จะดีขึ้น หรือระบาดมากขึ้น”

สถานการณ์ในปัจจุบัน นพ.สุภัทรเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ “ควบคุมได้” ซึ่งแตกต่างจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากจากการเดินทางกลับภูมิลำเนาของคนในพื้นที่ แต่ก็อาจมีเชื้อโรคกระจัดกระจายอยู่บ้าง เช่นในกรณีของคนที่เป็นพาหะ แต่ไม่แสดงอาการ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 12 เม.ย. ระบุว่ามียอดผู้ติดเชื้อใน 5 จังหวัดชายแดนใต้รวม 260 ราย แบ่งเป็น สตูล 17 ราย นราธิวาส 28 ราย สงขลา 56 ราย ปัตตานี 77 ราย และยะลา 82 ราย โดยจำนวนนี้ มีติดเชื้อที่เดินทางมาจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข และจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ความเห็นกับ Hfocus ว่า หากประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ การจัดพิธีกรรมที่มัสยิดในช่วงเดือนรอมฎอนอาจทำได้ลำบากขึ้น มีแนวโน้มที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการละหมาดที่บ้าน

อีกจุดนี่ต้องเฝ้าระวังคือตลาดนัด เพราะช่วงรอมฎอน เป็นช่วงที่ชาวมุสลิมจำนวนมากออกมาจับจ่ายซื้ออาหารที่ตลาดนัด ซึ่ง นพ.กิ๊ฟลันเห็นว่าต้องมีมาตรการจัดการตลาดที่ชัดเจน เช่น การกำหนดเวลาเปิดปิด เป็นต้น

สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หน่วยงานในแต่ละจังหวัดกำลังรอการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติจากสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางศาสนาอิสลามในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีการประกาศให้สาธารณะทราบในเร็วๆ นี้

เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า ภายหลังมีการประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมร่วมกัน เพื่อทำ “มาตรการทางสังคม” ตามมา โดยมาตรการดังกล่าวต้องเป็นไปในแนวทิศทางเดียวกับประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี และเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงภาพรวมในทุกจังหวัด

ก่อนหน้านี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกแถลงการณ์ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยขอให้พี่น้องชาวมุสลิมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พื้นที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว รวมทั้งในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้งดละหมาดวันศุกร์และการละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด เปลี่ยนเป็นละหมาดดุฮริในตอนบ่ายที่บ้านแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

ด้าน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยว่า ตนได้ร่วมหารือกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการอิสลามฯ และผู้นำศาสนาให้ความเห็นว่าตนพร้อมที่จะทำตามนโยบายของทางจังหวัดในช่วงเดือนรอมฏอน นอกจากนี้ จะเรียกอิหม่ามในมัสยิดทั่วจังหวัด มาพูดคุยถึงแนวทางในการปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่​ 9​ เม.ย. ที่ผ่านมา​ กระทรวงมหาดไทยออกหนังสือ อนุญาต​ให้ผู้ว่าราชการในจังหวัดชายแดน​ 21 จังหวัด​ เปิดด่านให้ผู้มีสัญชาติ​ไทยเดินทางเข้าประเทศ​ได้​ ตั้งแต่วันที่​ 18 เม.ย. เป็นต้นไป​ จากที่ก่อนหน้านี้​ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กำหนดให้ชะลอการเดินทางเข้าประเทศในทุกช่องทาง ระหว่างวันที่ 1-15 เม.ย.

โดยผู้ผ่านด่านต้องเข้าสู่​กระบวนการคัดกรอง และกักตัวเพื่อสังเกตอาการในสถานที่กักกันตัวที่จังหวัด​หน้าด่าน หรือที่จังหวัดภูมิลำเนา​ในกรณีของผู้ที่อาศัยอยู่ใน​ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งมีประชากรชาวมุสลิมต่างทยอยกันออกมาตรการจำกัดการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในมัสยิด เช่น ในมาเลเซียและสิงคโปร์ รัฐบาลต่างขอความร่วมมือให้ระงับพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิด

ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากกว่า 225 ล้านคน กระทรวงการศาสนาในอินโดนีเซียออกประกาศแนวทางการทำพิธีกรรมและละหมาดในช่วงเดือนรอมฎอน สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอินโดนีเซียไป 373 คน และมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 4,241 คน (ยอดเมื่อวันที่ 12 เม.ย.)

โดยขอความร่วมมือให้มัสยิดงดกิจกรรมการรวมตัวทุกประเภท และรณรงค์ให้ชาวมุสลิมละหมาดอยู่กับบ้านแทนที่การไปมัสยิด ด้วยกันนี้ กระทรวงการศาสนายังให้ความเห็นว่า การละหมาดเพื่อลดโรคระบาดเป็นเหตุจำเป็น ซึ่ง “มิได้ลดคุณค่า” ของพิธีกรรมถือศีลอดแต่อย่างใด

เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ