ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่ผลเสียด้านสุขภาพ ยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพต่างๆ ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบ และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบเอง โดยไม่มีนายจ้างจ่าย โดยอยู่ระหว่างรอประกาศกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดสำนักงานประกันสังคม เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด- 19 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 โดยมีผลใช้บังคับ งวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่ส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้องที่ประเทศไทย จึงเห็นควรลดหย่อนการออกเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน

โดยประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ดังนี้

1. ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 โดยให้นายจ้างส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละ 4 และผู้ประกันตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบในอัตรา ร้อยละ 1 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน

2. ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 86 บาท

3. ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้าง หรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต โควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่มีนโยบายที่จะเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ส่วนกรณีการเลิกจ้างพนักงานกว่าพันคนจาก บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูเมอร์โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด จ.ชลบุรีนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม มอบหมาย เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ประกันสังคมจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนายจ้างพบว่าบริษัทดังกล่าว ตกลงเลิกจ้างลูกจ้างในกลุ่มรับเหมาค่าแรงจากบริษัทรับเหมาค่าแรง 7 บริษัท เป็นจำนวนรวม 1,119 คน โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทยินยอมจ่ายเงินชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เป็นเงินกว่า 41 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีลูกจ้างทุกรายที่ถูกเลิกจ้างแล้ว และจะมีการจ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 เมษายนนี้ โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารลูกจ้างเช่นกัน โดยกลุ่มลูกจ้างดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจของกระทรวงแรงงานที่ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ให้ได้รับเงินกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง