ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

22 เมษายน 2563

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

ที่เราไม่ได้เห็นจำนวนติดเชื้อโรค COVID-19 รายใหม่น้อยเช่นนี้

15 คนคือรายงานสำหรับวันนี้

10 คนติดจากไปสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวมาก่อนก็ตาม คิดเป็น 67%

1 คนมาจากต่างประเทศ

แต่ที่เหลือมาจากการมีอาชีพที่พบปะคนอื่นๆ ในสังคม และการตะลอนไปตามชุมชน ห้าง ตลาด ที่แออัด คิดเป็น 27% ของทั้งหมด

นี่คือสัญญาณย้ำเตือนว่า ลักษณะติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้จะเลี่ยงได้ยากมาก หากดำเนินชีวิตไปมาหาสู่แบบเมื่อก่อน

New Normal ไม่ใช่แค่คำสวยหรูสำหรับการประกาศเชิญชวน

แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนในสังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองให้เปลี่ยนไปจากที่เคยทำประจำในอดีตให้ได้

แม้จะไม่ชอบ ไม่สะดวกสบาย หรือฝืนใจ

แต่หากเรารักตัวเรา รักพ่อแม่พี่น้องและคนใกล้ชิด ไม่อยากติดเชื้อจากใคร ไม่อยากแพร่ให้เค้า ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากเสียชีวิต

ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำให้เป็น New "Me"

ควรตั้งแง่สงสัยไว้เสมอว่า คนที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดีเพียงใด ก็ล้วนอาจติดเชื้อโรค COVID-19 อยู่โดยไม่รู้ตัว

โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

แถมการตรวจก็ทรมาน และใช้ทรัพยากรมาก

ถ้าเป็น ต้องรักษาตัวอยู่นานหลายสัปดาห์ และมีโอกาสตาย ไม่ใช่หวัดธรรมดา

New "Me"...ประกอบด้วยขั้นตอนปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างน้อยอีก 1 ปีถัดจากนี้ ดังนี้

หนึ่ง ตั้ง Default ของชีวิตว่า "อยู่กับบ้าน" ออกจากบ้านเมื่อยามจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

สอง ต้องเช็คอาวุธประจำตัวก่อนก้าวเท้าออกไปจากบ้าน "ใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์" พร้อมวางแผนให้ชัดว่าจะไปไหน ทำอะไร เจอใคร และพยายามจัดการให้เสร็จโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดเวลาสัมผัสผู้คนภายนอก หากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าไปลงแรงออกจากบ้านให้เสี่ยงเลย ใช้โทรหรือวีดิโอคอลล์ติดต่อแทนจะดีกว่า

สาม ล้างมือเป็นประจำทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงขณะอยู่ข้างนอก แต่ถ้าเผลอไปจับสิ่งของสาธารณะ หรือจับหน้ากากตัวเองเมื่อไหร่ ให้ล้างมือเมื่อนั้น และระวังอย่าเอามือไปขยี้ตาและล้วงแคะแกะเกาจมูกปาก

สี่ ใช้ขนส่งสาธารณะเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ถ้าจะใช้รถเมล์ รถไฟ รถตู้ ควรเช็คให้ดีว่าแออัดไหม ถ้าใกล้กันกว่าหนึ่งเมตร อาจต้องรับรู้ไว้ว่าเสี่ยงติดเชื้อนะ ไม่ไปจะดีกว่าไหม รอคันอื่น หรือเลือกเวลาที่ไม่แออัด แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องคอยสังเกตอาการ ประเมินความเสี่ยงของตนเอง เมื่อสงสัยควรรีบไปตรวจที่สถานพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์

ห้า ใช้บริการมอเตอร์ไซค์ นั่งซ้อนแล้วควรใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และสังเกตด้วยว่าคนขับนั้นใส่หน้ากากและใส่หมวกกันน็อคไหม ถ้าไม่ ก็ควรบอกให้ใส่ ถ้าไม่ใส่ ไม่ควรใช้บริการ

ตอนนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ ควรหันข้าง ไม่นั่งคร่อม คุณผู้หญิงคงจะชิน แต่ผู้ชายอาจลำบาก ถ้าจะนั่งคร่อม อาจต้องหันหน้าไปด้านข้าง จะดีกว่า เพื่อกันไม่ให้เราหายใจรดหลังคนขับ แม้จะใส่หน้ากากแล้วก็ตาม

หก อยู่ข้างนอก ระแวงคนอื่นไว้เยอะๆ จะได้อยู่ห่างๆ จากเค้า อย่างน้อย 1-1.5 เมตรเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดคุ้นเคย เจ้านายลูกน้อง หรืออื่นๆ เพื่อทั้งเราและเค้าจะได้ปลอดภัย

เจ็ด "ยืดอก...พกถุง" พกถุงผ้าไว้ติดตัว เวลาซื้ออาหารหรือของจิปาถะจะได้ใช้ได้เสมอ ไม่ต้องแชร์ หยิบจับภาชนะกับคนอื่นในสังคม ไม่ติดไม่แพร่ถ้าไม่แชร์

แปด จำไว้ว่า อย่าแชร์แก้ว แชร์ขวด แชร์ช้อนส้อมจานชาม หรือแม้แต่แชร์บุหรี่กับใครก็ตามที่ไม่ใช่ตัวเราเอง จำได้ไหมว่าแพร่กระจายกันกระจุยแถวทองหล่อ ดังนั้นต้องไม่ทำ ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน

เก้า กลับถึงบ้านอย่าเพิ่งไปกอดหอมทักทายคนรักคนใกล้ชิด ล้างมือก่อนเข้าบ้าน เข้าบ้านแล้วไปอาบน้ำก่อนดีกว่า

สิบ หากรัฐเค้าจะปลดล็อกการใช้ชีวิตในสังคมในรูปแบบใดก็ตาม จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยก็แล้วแต่ ขอให้ทุกคนที่พออยู่นิ่งๆ แบบที่ทำกันมาตลอดในเดือนมีนาคมและเมษายน จงอยู่นิ่งๆ กับบ้านต่อไปดีกว่าครับ เพราะทั่วโลกที่ปลดล็อกนั้น เค้าโชว์ให้เราเห็นแล้วว่า มีโอกาสระบาดซ้ำสูงมาก

ถ้าเราไหว ทำงานที่บ้านเยอะๆ อยู่นิ่งๆ ไปก่อน ดูลาดเลาเงียบๆ ตลอดเดือนพฤษภาคม

ถ้าเราเป็นเจ้านาย ให้ลูกน้องทำงานจากบ้านเยอะๆ ตลอดเดือนพฤษภาคม จะช่วยป้องกันเราและลูกน้องได้มาก

หากเกิดระบาดซ้ำ อย่างน้อยเราก็จะได้เป็นกำลังเสริมสำหรับสังคม ช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ

ระบาดรุนแรงครั้งนี้ เราจะรอดกันได้ ถ้าเราวางยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ ห่วงตนเอง คนรัก คนใกล้ชิด ใช้ชีวิตพอเพียง

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ

#โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน

#ดูแลตนเองและคนใกล้ชิด

#ช่วยเหลือแบ่งปันคนเดือดร้อน

#อยู่นิ่งๆในเดือนพฤษภาคมหากเรายังไหวแล้วเราจะปลอดภัย

ไทยต้องทำได้ครับ...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล