ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ หรือ New Normal Medical Services ซึ่งเป็นการรักษาออนไลน์ ผ่านระบบ VDO call และส่งยาทางไปรษณีย์ ว่า ระบบดังกล่าวเป็นการเน้นลดการแออัดการรอคิวของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากลดได้ ก็ลดการเสี่ยงติดเชื้อได้ โดยแนวคิด คือ การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัด เข้าถึงการรักษาในสถาการณ์โควิด ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ และเพิ่มขีดความสามารถการรักษา โดยผู้ป่วยที่สามารถรับบริการได้ คือ 

1.เป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้

2.สมัครใจในการรับบริการผ่าน VDO call และรับยาทางไปรษณีย์

3.ผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้มือถือ สมาร์ทโฟน ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้

อย่างไรก็ตาม เราพบว่า การดำเนินการดังกล่าวสามารถคัดเลือกผู้ป่วยได้ 30% โดยขั้นตอนหากผู้ป่วยสนใจ ก็ให้สามารถแจ้งความประสงค์กับทางพยาบาล จากนั้นแพทย์จะประเมินประวัติการรักษา เมื่อผ่านการประเมิน ก็จะให้ลงทะเบียนและสมัคร ซึ่งอีก 3 เดือนจะมีการโทรไปตามนัด โดยโรคที่เข้าข่ายจะเป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน โรคกระดูก โรคมะเร็ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคที่อาการคงที่ สำหรับการดำเนินการดังกล่าวไม่มีค่ารักษาอะไรเพิ่ม เป็นไปตามสิทธิที่มีทุกประการ เพียงแต่ค่าส่งไปรษณีย์ก็แล้วแต่สิทธิ หรือผู้ป่วยจะยินยอมจ่ายค่าส่งให้รวดเร็วก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและการตกลงกัน

“สำหรับกรมการแพทย์ก็มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว มีประมาณ 27 แห่งที่เปิดแล้ว โดยในกรุงเทพฯ ปริมณฑล มีทุกแห่ง ทั้งรพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนฯ รพ.เลิดสิน สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลเด็ก ฯลฯ โดยทั้งหมดมีการให้บริการผ่าน VDO call ช่วง 2 เดือน เราให้การบริการไปแล้ว 4,316 คน เฉลี่ยวันละ 200 คน และมีการส่งยาทางไปรษณีย์แล้วประมาณ 6,717 คน เฉลี่ยวันละ 363 คน” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว และว่า จะมีการขยายกลุ่มโรคมากขึ้น และขยายโรงพยาบาลที่ให้บริการมากขึ้นในอนาคตต่อไป

สำหรับโรงพยาบาล 27 แห่งที่ให้บริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New Normal Medical Services)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง