ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลทดสอบชุด PPE คนไทยผลิตเอง พบซัก 20 ครั้งประสิทธิภาพกันน้ำได้ระดับ 2 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มเสี่ยงน้อยถึงปานกลาง เล็งตั้งรง.วัคซีนปรับสายการผลิตแทน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย พัฒนาและผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือ ชุด PPE จากผ้าโพลีเอสเตอร์ เคลือบสารกันน้ำ ซึ่งเป็นการผลิตโดยคนไทย มีชื่อเรียกว่า “PPE รุ่นเราสู้” โดยได้นำมาทดสอบประสิทธิภาพกันน้ำด้วยการนำไปซักในห้องปฏิบัติการ 20 ครั้ง พบว่าเนื้อผ้าและตะเข็บป้องกันน้ำซึมได้ในระดับ 2 จากทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ 4 ระดับ

“หลังจากนำไปซัก 20 ครั้ง พบว่าผ่านมาตรฐานระดับ 2 คือ สามารถกันน้ำกระแทกและซึม โดยทนแรงดันน้ำได้ถึง 20 เซนติเมตรน้ำ ซึ่งเป็นระดับสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจนถึงความเสี่ยงปานกลาง แต่ระดับ 4 จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่สูง ต้องมีความสามารถทนพวกเลือดเทียม ไวรัสได้ จากการแบ่งความเสี่ยงการใช้งาน สำหรับชุด PPE รุ่นเราสู้ จึงเหมาะสมสำหรับกลุ่มเสี่ยงน้อยจนถึงปานกลาง ที่ไม่ต้องปฏิบัติงานในห้องไอซียู ซึ่งจะทำให้สามารถแบ่งการจัดซื้อชุด PPE ตามความจำเป็นได้มากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายได้” นพ.โสภณ กล่าว

ประธานบอร์ด อภ. กล่าวอีกว่า สำหรับชุด PPE รุ่นเราสู้ เบื้องต้นคาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 40,000 ชุด โดยประสานกับทางโรงงานที่สนใจผลิต 13 แห่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง และให้ทางโรงงานทดลองผลิตและทดสอบประสิทธิภาพให้ทาง อภ.พิจารณาก่อน เมื่อผ่านการทดสอบก็สามารถผลิตได้ทันที คาดว่าจะผลิตแห่งละประมาณ 3,000-4,000 ชุด ขึ้นอยู่กับการผลิตแต่ละแห่ง โดยจะใช้เวลาผลิตประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อแล้วเสร็จก็จะกระจายส่งตามโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่าจะจัดส่งสัดส่วนแห่งละเท่าไหร่อย่างไร เบื้องต้นอย่างเร็วประมาณวันที่ 7 พ.ค. หรือไม่เกินเดือนพ.ค. คาดว่าจะจัดส่งได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า 40,000 ชุดตกราคาประมาณกี่บาท และประหยัดจากน้ำเข้าเท่าไหร่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นราคารวมภาษี Vat ประมาณ 500 บาท แต่ชุดนี้สามารถซักได้ 20 ครั้งจะเฉลี่ยตกครั้งละ 25 บาท ในขณะที่การนำเข้าปัจจุบันมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับเกรดคุณภาพ ราคาตั้งแต่ 120 ,140, 300 หรือ 390 บาท ซึ่งทั้งหมดใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่กรณีนี้ซักซ้ำได้ ดังนั้น การใช้ครั้งเดียวทิ้ง ควรเป็นชุด PPE สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานเสี่ยงสูง ในห้องไอซียู ส่วนบุลากรที่ปฏิบัติงานความเสี่ยงน้อยถึงปานกลางหากมาใช้ชุดที่คนไทยผลิต ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคณะกรรมการวัคซีนเล็งตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เอง นพ.โสภณ กล่าวว่า ทางอภ.ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการแนวทางต่างๆ เพราะเราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง เนื่องจากหากพึ่งพาประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ ถึงตอนนั้นไม่มีใครการันตีได้ว่า เราจะได้รับวัคซีนมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญต้องพึ่งพาตัวเอง เบื้องต้นอาจใช้พื้นที่เดิม คือ โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จ.สระบุรี แต่ปรับสายการผลิต ซึ่งเครื่องมือเพิ่มเติม แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเทคนิคการผลิตวัคซีนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นการผลิตวัคซีนรจากไข่ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ ดังนั้น จะใช้ตัวโรงงานเดิมเลยคงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการปรับ หรือเพิ่มสายการผลิตแทน ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกัน ส่วนรายละเอียดยังไม่ชัดเจน คงต้องหารือกันอีกครั้ง