ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญกรมวิทย์ฯ-ม.สงขลานครินทร์ ตรวจศูนย์แล็ปยะลา หลังตรวจเชื้อโควิด 40 ราย คลาดเคลื่อนจากตัวควบคุม negative ปิดปรับปรุง ส่วนหนึ่งจากภาระงาน เครื่องมือ พร้อมเปิดตรวจควบคู่แล็ปสงขลาเร็วๆนี้

ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รายงานข้อมูลการตรวจเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ยะลา 40 รายว่า ก่อนหน้านี้ที่พบเชื้อโควิดเป็นบวก เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิกระหว่างการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการหยุดตรวจและส่งตรวจเชื้อซ้ำทันที ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้น

วันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า หลังจากช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางศบค.ได้แจ้งทางสื่อมวลชนเบื้องต้นแล้วว่า กรณีการตรวจเชื้อโควิด 40 รายที่จ.ยะลา ซึ่งเป็นการตรวจซ้ำ ล่าสุดไม่พบเชื้อโควิดนั้น โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากกรณีมีการตรวจตัวอย่างจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ด้วยวิธีการตรวจที่เรียกว่า RT-PCR ซึ่งการตรวจจะต้องมีการตรวจด้วยตัวควบคุมเปรียบเทียบ ซึ่งมีทั้ง 2 แบบ คือ แบบ positive ตัวทดสอบต้องได้ผลบวกเสมอ ส่วน negative คอนโทรล จะใช้น้ำเปล่าก็จะต้องได้ผลเป็นลบตลอด

“ครั้งนี้ห้องปฏิบัติการยะลา ตรวจพบว่า negative คอนโทรลกลายเป็นบวก ซึ่งไม่ได้ จึงต้องหยุดตรวจ และแจ้งผู้บังคับบัญชา และส่งให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา ก็พบว่า ผลตรวจเป็นลบ แต่เพื่อความชัดเจนจึงส่งตรวจที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สรุปได้ผลตรวจเป็นลบ เหมือนศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติตัวควบคุมจากลบกลายเป็นบวก จึงต้องหาสาเหตุ โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกรมวิทยาศาสตร์ฯ และม.สงขลานครินทร์ ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการยะลา โดยพบว่า ไม่ได้พบสิ่งผิดปกติหลักๆ แต่มีบางสิ่งที่ปรับปรุงได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์แล็ปยะลา ถึอว่ามีประสิทธิภาพตรวจเชื้อได้มาตลอด แต่ก็พบว่าภาระงานค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะช่วงค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ตรวจเชื้อในชุมชนวันละ 700 ตัวอย่าง ซึ่งการปรับปรุงก็คือ เรื่องภาระงานที่มาก โดยอนาคตต้องส่งตัวอย่างให้แล็ปอื่นๆช่วยตรวจ และเครื่องมือบางอย่างรับภาระงานมาก ต้องมีการเพิ่มเติมเข้าไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ได้นำเรียนผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา รับเรื่องและจะปรับปรุงมากขึ้น โดยการตรวจตัวอย่างในอนาคตจะตรวจตัวอย่างคู่กับทางแล็ปสงขลาควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องย้ำว่า ทางโรงพยาบาลยะลาได้ดำเนินการตามมาตรฐานทั้งหมด เพราะเหตุการณ์การตรวจที่มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้เสมอ และการทำงานของแล็ปถือเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมโรค เพราะเมื่อพบเชื้อก็นำไปสู่การรักษาได้

เมื่อถามว่า การตรวจเชื้อปัจจุบันยังใช้ RT-PCR หรือต้องปรับอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ยังคงใช้ RT-PCR โดยคนปกติรับเชื้อต้องใช้เวลา 7 วัน จึงมีอาการเรียกว่าฟักตัวของโรค และหลังจากนั้นอีก 7 วัน ภูมิคุ้มกันจึงจะขึ้น ดังนั้น การตรวจหาเชื้อจึงมักใช้วิธี RT-PCR มากกว่า เพราะหากตรวจระดับภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า การตรวจแบบ Rapid Test ต้องมารออีก ซึ่งองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตรวจหาเชื้อในพื้นที่ระหว่างรอปรับปรุงแล็ปที่ยะลา นพ.โอกาส กล่าวว่า ขณะนี้ให้พื้นที่จังหวัดสงขลาซึ่งมีแล็ปอยู่ 4 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยดูแลในพื้นที่จังหวัดละยา รวมถึงปัตตานีและนราธิวาสด้วย ซึ่ง 2 จังหวัดหลังนี้ได้นำเครื่องตรวจ และเตรียมบุคลากรในการตรวจ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากนี้ต้องมีการตรวจมาตรฐานห้องแลปซ้ำหรือไม่โดยเฉพาะห้องแล็ปที่เปิดใหม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรามีคณะทำงานด้านแล็ปที่หารือกันทุกวันศุกร์ และตั้งทีมตรวจสอบมาตรฐานซ้ำ ในลักษณะของการสุ่มตรวจทั้งประเทศอยู่ ขณะนี้ได้เริ่มทำการสุ่มตรวจแล้ว