ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคลุยตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1.7 แสนคนภายใน มิ.ย. นี้ มุ่ง “ 6 กลุ่มเสี่ยง - 4 สถานที่เสี่ยง” กระจาย 77 จังหวัดทั่วประเทศ มอบพื้นที่ดำเนินการ

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวถึงมาตรการการตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก หรือที่เรียกว่า Active Case Finding ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิดรายใหม่เริ่มลดลง เป็นตัวเลขหลักเดียวมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ซึ่งหลายคนก็มองว่า สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้หรือไม่ หากพิจารณาการดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยเน้นการตรวจผู้ที่มีอาการสงสัย หรือ PUI มาตลอด ปัจจุบันได้มีการขยายนิยามผู้ป่วยที่สงสัยเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 6 หมื่นรายขึ้นไป และยังมีการตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้จะมีการตรวจเชื้อมาตลอด แต่ทำไมเราจึงยังพบหลายพื้นที่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง อย่างภูเก็ต สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบางจุดในพื้นที่กทม. รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่โรงพยาบาลบางแห่ง รวมไปถึงผู้สัมผัสไม่มีอาการ ด้วยเหตุนี้จึงต้องไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน ที่เรียกว่า Active Case Finding ซึ่งดำเนินการมาตลอด จนสามารถค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ และดำเนินการแยกกัก จนพบว่าผู้ป่วยในพื้นที่กทม. เริ่มพบน้อยลง จนบางวันไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เลย ที่ผ่านมาได้เข้าไปค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน ทั้งกทม. ภูเก็ต กระบี่ ชลบุรี ชุมพร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างในพื้นที่กทม.ตรวจไปแล้ว 3,100 กว่าราย เจอเพียง 1 ราย ส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้พบประปรายในอัตราแค่ 1%

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาที่มีมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่างๆ พบว่า มีพี่น้องประชาชนออกไปใช้ชีวิตปกติเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังพบว่าบางส่วนไม่ยึดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม บางส่วนไม่สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และยังมีพฤติกรรมออกไปแย่งซื้อหาสินค้าที่ไม่จำเป็น อย่างสุรา และยังพบว่ามีการเบียดเสียดในการใช้รถขนส่งสาธารณะ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 วันหลังจากผ่อนปรนก็จะเห็นภาพต่างๆออกมา จนทำให้เกิดข้อกังวลว่า จะมีโอกาสกลับไปสู่การระบาดระลอก 2 ได้หรือไม่

“จากข้อกังวลดังกล่าว ทางการประชุม ศบค. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ให้เร่งดำเนินการโดยให้มีการตรวจเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรที่เสี่ยง พื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) โดยการดำเนินการในกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการใดๆ การทำตรงนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้มั่นใจว่าควบคุมโรคได้ตามมาตรการผ่อนปรน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงพิจารณาจากกลุ่มคนที่อยู่รวมกันจำนวนมาก หรือทำงานที่มีความเสี่ยงในการพบปะผู้คนจำนวนมาก ประกอบด้วย 1. บุคลากรทางการแพทย์ 2.ผู้ต้องขังแรกรับ 3.ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง 4.คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 5.กลุ่มแรงงาน/แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกัน และ6.กลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ พี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ในจุดเสี่ยง เป็นต้น ส่วนสถานที่เสี่ยง ประกอบด้วย 1.ชุมชนแออัด 2.ศาสนสถาน 3.สถานีขนส่งผู้โดยสาร และ4.สถานีรถไฟฟ้า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตรวจเชื้อนั้น จะตรวจด้วยน้ำลาย และรวมกลุ่มตรวจ 7-8 คน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องตรวจให้ 6,000 รายต่อประชากร 1 ล้านคน หรือต้องตรวจให้ได้ทั้งหมด 400,000 รายภายในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ โดยปัจจุบันเราตรวจไปแล้ว 230,000 ราย ต้องตรวจเพิ่มให้ได้อีก 170,000 คน ซึ่งการเลือกกลุ่มเป้าหมายจะให้พื้นที่เป็นผู้คัดเลือก อย่างจังหวัดที่มีความเสี่ยง และมีรายงานผู้ป่วยในรอบ 28 วันที่ผ่านมา ยกตัวอย่างกทม. ต้องตรวจไม่น้อยกว่า 15,000 ราย และในสัปดาห์หน้าเราจะกระจายวัสดุสนับสนุนไปยัง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการโควิด-19 ตรวจไปแล้วมากกว่า 3,421 ตัวอย่างต่อประชากรล้านคน แต่จำนวนการตรวจมากก็ไม่ได้สัมพันธ์กับการป้องกันควบคุมโรค อย่างอิตาลีตรวจมากกว่า แต่ผลการป้องกันควบคุมโรคไม่ได้มากกว่าเรา สรุปคือ ของไทยตรวจเชื้อในระดับปานกลาง แต่การป้องกันควบคุมโรคอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงตั้งเป้าว่าต้องตรวจเชื้อให้ได้ 6,000 รายต่อประชากรล้านคน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า เราไม่ได้เร่งการตรวจเชื้อ เพื่อตรวจเพิ่มจำนวน แต่เราตรวจเพื่อเตรียมรับกับมาตรการผ่อนปรน และเป็นการตรวจจับโรคได้เร็วหากเกิดโรคขึ้น

“สิ่งสำคัญตัวมาตรการที่ยังต้องดำเนินการควบคุมโรค คือ มาตรการหลักและมาตรการเสริมต่างๆที่รัฐทยอยออกมาก็ต้องปฏิบัติ และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลห่วงใย คือ ในพื้นที่หรือสถานที่ที่เปราะบาง เช่น ศูนย์กักกักอย่างด่านสะเดา ที่พักคนงาน ชุมชนแออัด กิจการประมง กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุที่รับค้างคืน สิ่งเหล่านี้ได้จัดทำคู่มือมาตรการแล้ว และจะแจ้งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าฯจังหวัดและทุกภาคส่วนดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มเสี่ยง ทุกสถานที่เสี่ยง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ปัจจุบันคาดว่าคงต้องอยู่กับโรคโควิดไปอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะต่างประเทศยังพบโรคอยู่ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการ ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้ดีที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง