ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แถลงเอาผิดคลินิกเบิกงบบัตรทอง 2 ส่วน “18 คลินิก” ทุจริตชัด! เอาผิด 9 ข้อ ขณะที่ขยายผลพบ “63 คลินิก” เบิกงบผิดปกติ แต่ไม่ชัดทุจริตหรือไม่ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่ม 30 ก.ค.นี้ รองเลขาฯ เผยแถลงคืบหน้าทุกสัปดาห์

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวความคืบหน้า สปสช.ดำเนินคดี 18 คลินิกทุจริตเงินบัตรทอง พร้อมขยายผลตรวจสอบ พบอีก 63 แห่งข้อมูลไม่ถูกต้อง โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงว่า หลังจาก สปสช.ตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าบริการคัดกรองโรคในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของคลินิกเอกชน 18 แห่ง ในพื้นที่ กทม. ล่าสุดมีความคืบหน้าใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การดำเนินการเอาผิดคลินิก 18 แห่ง และส่วนที่สอง การขยายผลตรวจสอบคลินิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง เกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก ซึ่งพบความผิดปกติ 63 แห่ง

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนที่ 1 ความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีคลินิกเอกชน 18 แห่งทุจริตเบิกเงินบัตรทองนั้น สปสช.ได้ดำเนินการ 9 ส่วน ดังนี้ 1.ระงับจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของหน่วยบริการทั้ง 18 แห่ง 2.เรียกคืนเงินตามจำนวนที่ตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง โดยเป็นยอดเรียกคืนทั้งสิ้น 74,397,720 บาท ขณะนี้เรียกคืนแล้ว 60,773,809 บาท คงเหลือยอดค้างชำระรอเรียกคืน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 63 จำนวน 13,623,911 บาท 3.แจ้งความตามคดีอาญา พร้อมส่งมอบเอกสารหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 63 4.วันที่ 7 ก.ค. 63 สปสช. ส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, แพทยสภา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว

“ 5.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ก.ค.63 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริต วันที่ 8 ก.ค. 63 6.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการประจำทั้ง 18 แห่ง และประกาศยกเลิกการเป็นหน่วยบริการ วันที่ 9 ก.ค. 63 โดย สปสช.จัดระบบให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกว่า 2 แสนรายใน 18 คลินิกเอกชนใน กทม. ได้รับการดูแลแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะได้รับการย้ายหน่วยบริการอัตโนมัติ ผู้ป่วยส่งต่อในระหว่างนี้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว 7.ขอความร่วมมือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมส่งทีมสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย 8.เสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ 9.วานนี้ (14 ก.ค.63) คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริตประชุมนัดแรก” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ส่วนที่ 2 การขยายผลการตรวจสอบคลินิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง เป็น รพ.เอกชน 20 แห่ง และคลินิกเอกชน 66 แห่งนั้น พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง เป็นจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืน 2,473,600 บาท แต่เมื่อแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยบริการรับทราบ มีหน่วยบริการ 11 แห่งขออุทธรณ์ผลการตรวจสอบ อีก 52 แห่งไม่อุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวถามกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอดีตผู้บริหาร สปสช. ซึ่งหมดวาระ และไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคลินิก จนเกิดคำถามว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับคำถามว่าอดีตผู้บริหารสปสช.เกี่ยวข้องหรือไม่ และขัดกับระเบียบ สปสช.หรือไม่ จริงๆไม่เกี่ยวข้อง แต่หากจะถามว่าผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ คงไม่ใช่บทบาท สปสช.เป็นคนชี้ แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นคนดำเนินการ แต่จากการตรวจสอบ 45 คลินิกแรกจนพบ 18 แห่ง รวมทั้ง 86 คลินิกจนพบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 คลินิก ก็ไม่มีอดีตผู้บริหารสปสช.เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน

“ส่วนเรื่องคลินิก 63 แห่งนั้น เราตรวจสอบพบว่า ไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง แต่ยังไม่พบทุจริตในส่วนนี้ ซึ่งจะลงตรวจสอบอย่างละเอียด 63 คลินิกอีกในระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-11 ส.ค. แต่ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หรือ อปสข.กทม. จะมีประชุมก็จะมีการรายงานผลเรื่องนี้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องนี้ ทางสปสช.จะแถลงทุกสัปดาห์ว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร