ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอคำนวณ” คาดระบาดรอบใหม่เกิดครึ่งปีหลัง  ส่วน “หมอประสิทธิ์” เผยผลวิจัยคิงส์คอลเลจติดตามภูมิคุ้มกันคนหายป่วยพบ 17% ภูมิฯหาย   ด้าน “หมอสมศักดิ์” เผยข้อมูลกรมควบคุมโรคประเมินสถานการณ์หากติดเชื้อสูงวันละ 500 คน ระบบยังรับได้  

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum :  เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19”  โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม”   

ทั้งนี้ ภายในงาน มีการเสวนาเรื่อง “แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่สองของ Covid-19  โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความเสี่ยงการระบาดรอบสอง ว่า  มีโอกาสสูงมากที่จะมีการระบาดรอบสอบในครึ่งปีหลัง แต่อย่าตกใจ เพราะจะสามารถจัดการได้ โดยปัจจัยที่จะทำให้ระบาดรุนแรงหรือไม่ ทางระบาดวิทยามี 3 อย่าง คือ ตัวเชื้อ ตัวคน และสังคม สำหรับตัวเชื้อนั้น สายพันธ์หลักคือ D614G มีข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงอาจไม่มาก ต้องติดตามต่อไป ปัจจัยตัวเชื้อไม่เท่าไหร่  แต่ตัวคนก็สำคัญ ต้องมีมาตรการป้องกันเหมือนเดิม  ส่วนปัจจัยสิ่งแวดล้อม เรามีระบบค่อนข้างพร้อมมาก จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องระบาดรอบสอง 

“โดยสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ  แต่ครึ่งปีหลังจะจะมีการติดเชื้อในประเทศแบบประปราย รู้ว่าใครติดจากใคร จากนั้นก็จะมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ยังติดตามและควบคุมได้  หากกรณีวิกฤตพบมาก คือมีการติดเชื้อกระจายจำนวนมากเกินความสามารถที่จะรองรับ   แต่การระบาดรอบสองนั้น ผมว่าไม่รุนแรง เพราะเราเตรียมพร้อมระบบในการรองรับ” นพ.คำนวณ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า  หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเตือน ปัจจุบันเป็นจริงหมด  ณ วันนี้หลัก 1 ล้านของคนติดเชื้อวันนี้ใช้เวลา 4 วัน จากเดิมเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมากว่าจะผ่านหลักล้านใช้เวลาเป็น 10 วัน และขอย้ำว่าอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า สิ่งหนึ่งเกิดจากมีการปรับตัว   อย่างไรก็ตาม  ตนจะสะท้อนตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อให้เห็นว่า การระบาดของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร เริ่มจากสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทำลายสถิติแทบทุกสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตหากมองย้อนหลัง 12 วันบางช่วงลดลง แต่ตอนนี้กำลังเพิ่ม โดยบางรัฐของสหรัฐ เริ่มประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องอยู่ไอซียู เริ่มมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ส่วนบราซิล ทั่วโลกกำลังมองว่าเข้าสู่วิกฤตจริงๆ  ส่วนออสเตรเลียก็พบกลับมาเพิ่มขึ้น  ส่วนประเทศเยอรมนี ก็ดีขึ้น แต่ก็กลับขึ้นมา เรียกว่าเวฟที่ 1 ผ่านไปแล้ว และกำลังกลับมาอีก  

“ ไทยเหมือนวงกลมในกล่องสีเหลี่ยม และกล่องสีเหลี่ยมมีหน้าต่างมีประตู ตอนนี้เรามีกลไกในการควบคุมภายในของเราเอง ทั้งใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่าง แต่นอกกล่อง ก็เปรียบเหมือนทั่วโลกเปรียบเหมือนไฟ ย่อมมีโอกาสผ่านเข้ามาทางหน้าต่างและเข้าบ้านเราได้ ที่สำคัญต้องอย่าเปิดหน้าต่าง แต่ก็อาจมีการหลุดรั่วได้ ที่สำคัญเราอย่าเปิดหน้าต่าง หรือเปิดประตูเอง แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว  

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า  ไวรัส 1 ตัว จะแพร่ไปยังคนอื่นนั้น คนหนึ่งคนหากไม่เจอคนอื่น โอกาสติดเชื้อจะน้อยลง จึงต้องให้อยู่บ้าน แต่ตอนนี้เราเริ่มผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นก็ต้องแลกมา แต่ก็ต้องมีมาตรการควบคุมให้ดี เช่น หนึ่งคนออกไป เจอคน 4 คน แต่หากผมรักษาระยะห่างก็จะป้องกันตัวเองได้ และหากผมใส่หน้ากากอนามัย และคน 4 คนก็ใส่หน้ากากอนามัยด้วยก็ยิ่งลดความเสี่ยงอีก สรุปคือ หากรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยก็จะลดได้มาก และต้องล้างมือบ่อยๆ ก็จะยิ่งดี ไม่ต้องรอวัคซีน แต่เราช่วยกันเองได้  หรือแม้แต่ ยาฆ่าเชื้อ ณ ปัจจุบันไม่ว่าตัวไหนเราไม่ได้ผลิตเอง มาจากต่างประเทศ ดังนั้น เราต้องช่วยกัน หากคนติดเชื้อเยอะๆ และรุนแรงต้องใช้ยาเราจะทำอย่างไร  

“ข้อมูลล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ติดตามคนไข้โควิดจำนวน  63 คน พบว่า 60 คนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น  แต่เมื่อติดตามต่อเนื่องพบว่า ภูมิคุ้มกันลดลงและหายไป 17% ใน 2 เดือน หากเกิดขึ้นจริงๆ คือ ไวรัสตัวนี้อาจไม่ได้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่เราเคยบอกว่าไม่เกิดเชื้อซ้ำ แสดงว่าอาจไม่ใช่ แต่ที่พูดไม่ใช่ให้ตระหนกตกใจ  เพราะในแง่วิชาการกำลังติดตาม อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ทางรพ.รามาธิบดี พบว่า มี 3% เท่านั้นที่มีภูมิคุ้มกัน แต่ศิริราชเคยตรวจในนักศึกษาศิริราชกลับไม่ขึ้น จึงต้องติดตามต่อไป” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ยังสำคัญ แต่ที่สำคัญคือ ต้องเช็กอินแล้วต้องเช็กเอ้าท์  แต่คนมักจะลืม จริงๆ เรื่องนี้สำคัญมาก จึงต้องขอย้ำให้ช่วยกันทำเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำคัญส่งผลต่อสถานการณ์มี 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ รัฐบาล และผู้รับการบริการ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า   ช่วงการระบาดแรกๆ จุดที่เรากลัวที่สุด คือการระบาดในรพ. อย่างเดือนก.พ.ที่ผ่านมาได้จัดตั้งคลินิกไข้หวัด ใครมีไข้ ใครกลุ่มเสี่ยงให้แยกไปที่คลินิกไข้หวัด ซึ่งรพ.ทุกสังกัดมาร่วมกันดำเนินการจัดห้องความดันลบ การเตรียมพร้อมทุกอย่าง นอกจากนั้น เรายังมี Hospitel ที่เอาหอพัก เอาโรงแรมมาทำการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ขณะนั้นมี 600 กว่าเตียง แต่ปัจจุบันปิดหมดแล้ว เพราะไม่มีคนไข้ แต่ขณะนั้นการวางรูปแบบเช่นนั้นถือว่า มีแค่เฉพาะไทยที่ทำลักษณะนี้ 

“ กรมควบคุมโรคมีการประมาณการณ์กรณีมีผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามชายแดนมา โดยหากเดินทางเข้ามาประเทศ 50 คนต่อเดือน ก็จะมีการประมาณการณ์ผู้ป่วย 7 พันกว่าคนใน 15 เดือน ตกเดือนละ 500 คน แต่ระบบการบริการทางการแพทย์เราเตรียมพร้อมรองรับไว้ อย่างกรณีเตียงรองรับ  ปัจจุบันเรามีเตียงรองรับทั้งหมดกว่า 22,052 เตียงทั่วประเทศ แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 18,405 เตียง และนอกสังกัดกระทรวงฯอีก 3,647 เตียง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงทั้งหมด 2,471 เตียงทั้งของรพ.รัฐและเอกชน  ขณะที่ไอซียูมี 600 เตียง แต่หากเป็นเตียงไอซียูแบบประยุทธ์มีกว่า 1 พันเตียง  ดังนั้น ถ้ามีการระบาดระลอกสอง บริการทางการแพทย์จะไม่หยุด ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน แต่จะเป็นการแพทย์วิถีใหม่” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว