ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ให้ความรู้ถึงวิวัฒนาการไวรัสโควิด-19 พร้อมให้ข้อมูลสายพันธุ์ G พบมากที่สุดในปัจจุบัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า

วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยากทำความเข้าใจและช่วยเผยแพร่ให้ถูกต้อง การแยกสายพันธุ์ของไวรัสเกิดจากวิวัฒนาการของเชื้อตามรูปที่เขียนให้ดู ไวรัสเริ่มต้นจากจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine)

สายพันธุ์ L แพร่กระจายมีลูกหลานได้มากกว่าสายพันธุ์ S โดยเฉพาะเมื่อออกนอกจีนไปถึงยุโรป

สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine)

สายพันธุ์ G แพร่กระจายได้ง่ายตามหลักวิวัฒนาการ จึงกระจายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีลูกหลานของสายพันธุ์ G มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine)

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่าสายพันธุ์ G ระบาด ได้ง่ายแพร่กระจายได้เร็วแต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและระบบภูมิต้านทาน ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้อัตราการครอบคลุมสายพันธุ์ G เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมาเป็นเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่นี้ทั่วโลกจึงเป็นสายพันธุ์ G

ย้อนกลับมาระบาดในประเทศไทย เมื่อระลอกแรกถึงแม้จะพบได้ทุกสายพันธุ์เพราะมีการเดินทาง แต่สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในระลอกแรกเป็นสายพันธุ์ S ขณะนี้การตรวจไวรัสในผู้ที่อยู่ในที่กักกันของรัฐหรือที่เรียกว่า State quarantine โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสของจุฬาฯพบว่าเป็นสายพันธุ์ G เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา สายพันธุ์นี้ไม่เกี่ยวข้องที่จะทำให้โรครุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่การกระจายง่ายๆจึงทำให้อัตราการพบส่วนใหญ่ของทั่วโลกเป็นสายพันธุ์ G อยู่ในขณะนี้

เฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ยังให้ความรู้เพิ่มเติมถึงสายพันธุ์ G ว่า สายพันธุ์ไวรัสที่เรียกว่าสายพันธุ์ G หรือมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนจากเดิมคือ Aspartate (D) ในตำแหน่งที่ 614 ของ spike โปรตีน หรือเรียกว่า D614 ไปเป็น Glycine เรียกว่า G614 คือกรดอะมิโนของ spike หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมาในตำแหน่งที่ 614 จากสายพันธุ์เดิม

ถ้าตรวจพบว่าเป็น Glycine ก็จะเรียกว่า G type การเปลี่ยนกรดอะมิโนตัวเดียว ไม่ได้ทำให้รูปร่างของโปรตีน spike เปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้มีผลทำให้ปลดปล่อยไวรัสหรือแพร่กระจายไวรัสออกมาได้มากขึ้น (ดังแสดงในรูปที่ลงพิมพ์ในวารสาร Cell)

พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้โรคไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่มีการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่กระจายไปได้มากกว่า

ตามหลักวิวัฒนาการจึงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้น้อยกว่าก็จะถูกเบียดบังให้น้อยลงไป ระบบภูมิต้านทานของโปรตีนใน spike หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมาเป็นส่วนที่กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทาน รูปร่างไม่ได้เปลี่ยนแปลง ภูมิต้านทานจากวัคซีนที่ผลิตกันอยู่ก็สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็น type ไหนของไวรัส

ภาพข้างล่างนี้นำมาจากวารสาร Cell, Korber et al., 2020 Cell 182,1-16 (under the CC BY-NC-ND license)

 

เฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ