ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ให้ข้อมูลกรณีพิจารณาสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ไม่มีข้อพิสูจน์ทางความรุนแรงและการแพร่กระจายจากตัวไวรัสและในมนุษย์ชัดเจน ต้องพิจารณาบริบทอื่นๆร่วม

ศ. นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ถึงสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 แก่สื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ว่า ถึงเวลาที่เราต้องสร้างสมดุลระหว่างกลัวกับข้อมูลที่ได้ยิน กับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาตร์เที่เหมาะสม สายพันธ์ต่างๆเราก็ทราบหมดแล้ว และต้องไม่ “มโน” ตามรายงานที่พูดถึงเรื่องสายพันธุ์ที่เป็นการศึกษาโดยดูรหัสพันธุกรรมเทียบกับ เงี่อนไขเวลาที่เกิดขึ้น และ ประเทศที่เกิดขึ้น และเหมารวมว่า สายพันธ์ที่พบในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตมาก ต้องเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง ทั้งนี้ละเลยการพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ติด และเกิดการแพร่กระจาย จากการชุมนุม ไม่เว้นระยะห่าง ไม่ใส่หน้ากาก ไม่สนใจการล้างมือและสุขอนามัย และกระบวนการรักษาที่ไม่ลงตัว

“การดูสายพันธุ์อย่างเดียว ไม่มีข้อพิสูจน์ทางความรุนแรงและการแพร่กระจายจากตัวไวรัสและในมนุษย์ชัดเจน เป็นการทำงานกับ ข้อมูลแลปแห้ง การวิเคราะห์ไม่ได้พิจารณาถึงบริบทของวินัยและการควบคุมโรคในแต่ละประเทศ การพิจารณาเรื่องสายพันธุ์นั้นต้องคำนึงว่า เป็น การเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการติดเชื้อในเซลล์หรือไม่อย่างไร ที่เรียกว่า functional mutation การศึกษาในลักษณะเช่นนี้ เช่นในประเทศจีนโดยการนำเอาไวรัสที่ได้จากผู้ป่วย 11 ราย ในช่วงเดือนมกราและกุมภาพันธุ์และได้ทดสอบให้มีการติดเชื้อใน verocell และไวรัสที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งของรหัสพันธุกรรม ในบางตำแหน่ง พบว่า จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้มากกว่าไวรัสตัวอื่นและเกิดความเปลี่ยนแปลงในเซลล์” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การทดสอบดังกล่าวไม่อาจนำมาเป็นข้อสรุป ในการติดเชื้อในมนุษย์ เนื่องจากกระบวนการที่มีการติดเชื้อในมนุษย์นั้นจะมีความซับซ้อนกว่ามาก และการที่มีอาการหนักและเสียชีวิต ไม่ได้อธิบายจากกลไกของไวรัสอย่างเดียวแต่เป็นผลจากการที่ไวรัสก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อใดเป็นสำคัญเช่น ชอบในโพรงจมูก ลำคอ หรือที่เนื้อปอดส่วนล่าง หรือเข้าในกระแสเลือดและเข้าในเม็ดเลือดขาว ความสามารถมากน้อยที่จะกดภูมิคุ้มกันในเนื้อเยื่อตำแหน่งแรกที่ไวรัสเข้าและยอมให้มีการเพิ่มจำนวนและที่สำคัญคือต่อมากลับมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะผ่านทางเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆก่อให้เกิดเยื่อเมือก ขุ่นคลั่กในถุงลม ต่อเนื่องไปจนกระทั่งเกิดเนื้อเยื่อพังผืด และ/หรือมีผลกระทบต่อผนังเส้นเลือดทำให้เกิดการอักเสบ รั่ว และเกิดภาวะเลือดข้น เส้นเลือดตัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้ถ้าสามารถหยุดการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่รุนแรงมากในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยชีวิตผู้ป่วยและทำให้อาการหนักเป็นเบา นอกจากนั้นจำนวนไวรัสอย่างเดียวมากหรือน้อยไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าจะเสียชีวิตหรือไม่ ทั้งนี้มีรายงานหลายชิ้นขัดแย้งกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงกลไกอย่างอื่นเข้ามาควบรวมด้วยในการประเมินความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต

การที่เราเห็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเลยหรือมีอาการน้อยกลับมีปริมาณไวรัสมากมายเมื่อทำการตรวจและในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่อาการหนักมากต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือพิเศษที่ช่วยเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ณ เวลานั้นจำนวนไวรัสกลับน้อยลงด้วยซ้ำ เป็นข้อพิสูจน์ที่ต้องเข้าใจภาพรวมการเกิดโรค การพูดถึงสายพันธ์อย่างเดียว โดยไม่พิจารณาปัจจัยอื่นๆที่ส่งเสริมให้เกิดการแพร่กระจาย รวมกระทั่งถึงการรักษาที่ไม่ทันท่วงทีและทำให้เกิดมีการอักเสบลุกลามต่อเนื่องไปทั่วร่างกาย อาจไม่ถูกต้อง และเป็นการมองเชื้อโรคอุบัติใหม่ โดยดูเชื้ออย่างเดียว แต่ไม่ได้พิจารณา องค์รวมของการเกิดโรค อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีทุกสายพันธุ์ที่พูดว่าน่ากลัวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม จากข้อมูลไวรัสที่ถอดรหัสพันธุกรรมหมดแล้วตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบันการรหัสพันธุกรรม ต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไปทำไม ” ถ้าตอบได้เท่านี้ อาจจะไม่คุ้ม