ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ฯ เผยไทยยังไม่พบสายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB รวมทั้งไม่มีสัญญาณการกลายพันธุ์ที่ต้องกังวล ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ใช้ชีวิตโดยการป้องกันตนเองตามปกติ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวในต่างประเทศ  ตรวจพบโอมิครอนกลายพันธุ์ตัวใหม่ ไม่ว่าจะเป็น  "BQ.1.1" และ “XBB” สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์  ว่า  จากข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ยังไม่มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เชื้อโควิด 19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็น "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.5 

จากฐานข้อมูล GISAID ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยพบ BA.4 จำนวน 218 ราย ในส่วน BA.2.75 และลูกหลาน BA.2.75.1, BA.2.75.2 พบ 24 ราย สายพันธุ์ BA.5 และลูกหลาน พบ 2,152 ราย โดยสายพันธุ์ย่อยหลักที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ สายพันธุ์ BA.5.2 พบรายงานจำนวน 1,709 ราย ซึ่งแนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลก คือ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วน BA.4, BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.1, BA.2.75.2 และ BA.2.75.x พบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส สำหรับสายพันธุ์ BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งบนส่วนหนาม ได้แก่ R346T, K444T, และ N460K ช่วยให้สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย 
ส่วนสายพันธุ์ XBB ซึ่งมีต้นตระกูลมาจาก BA.2 นั้น เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BA.2.75 ปัจจุบันทั่วโลกรายงานสายพันธุ์ XBB จำนวน 260 ราย BJ.1 จำนวน 114 ราย และ BA.2.75 จำนวน 9,047 ราย สำหรับประเทศไทยรายงานพบเฉพาะสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 18 ราย โดยยังไม่พบสายพันธุ์ BJ.1 และ XBB 

อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ และติดตามดูสายพันธุ์ที่อาจมีปัญหาอย่างใกล้ชิด หากพบสัญญาณว่าตัวใดมีปัญหาจะจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีสัญญาณการกลายพันธุ์ที่ต้องกังวล ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ควรตื่นตระหนกจากข้อมูลบางส่วนในสื่อโซเชียล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน 

"ขอย้ำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น ขอให้ฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 4 เดือน จากเข็มล่าสุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608  ควรรับถึงเข็มที่ 4 เมื่อใดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการป้องกันตนเองทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้ทุกสายพันธุ์" นพ.ศุภกิจ กล่าว 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org