ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แถลงการณ์ “กลุ่มเพื่อนสาธารณสุข เพื่อประชาธิปไตย” กรณี “การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา”  

1. การชุมนุมและแสดงออกของนักเรียนนักศึกษา ทั้งในและนอกสถานศึกษา เป็นสิทธิที่กระทำได้  

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ม.34,44  บัญญัติว่า บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ ข้อ19,20 ระบุ บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็น การแสดงออก และชุมนุมโดยสงบ “การชุมนุมและแสดงออกของผู้ชุมนุม เป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่มีลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่กระทบความมั่นคง ไม่ละเมิดบุคคลอื่น จึงเป็นสิทธิที่กระทำได้” 

2. ควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช้พรก.ฉุกเฉิน มาควบคุมการชุมนุม 

โควิด-19 ไม่พบการติดเชื้อในประเทศเกิน 3 เดือนแล้ว ควรเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ใกล้เคียงปกติ บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ และใช้พรบ.โรคติดต่อแทน เพราะสามารถกำหนดมาตราการต่างๆ เช่น แยกกักผู้สัมผัสโรค กำหนดช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ได้เช่นกัน นายกฯยังสามารถใช้อำนาจบูรณาการหน่วยงานต่างๆได้ “การควบคุมการชุมนุมโดยพรก.ฉุกเฉิน ตรวจสอบโดยฟ้องร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและศาลปกครองไม่ได้ และมีโทษรุนแรงเกินไป” 

3. ควรยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมด้วย ม.116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พรบ.คอมพิวเตอร์การเรียกร้องประชาธิปไตย โดยสงบ ปราศจากอาวุธ มิใช่การกระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้น และมิใช่สิ่งอันเป็นเท็จ “การดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าว เป็นการทำเกินกว่าเหตุ” 

4. ที่มา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ รัฐบาลปัจจุบัน ไม่เป็นประชาธิปไตย 

คสช. ร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2557 เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้น แม้จัดลงประชามติ แต่คสช.สามารถรณรงค์ให้รับร่างได้หลายเดือน ขณะฝ่ายตรงข้ามถูกตั้งข้อหาคดีต่างๆ เช่น ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ มากกว่า 200 คน และอยู่ใต้เงื่อนไขหากไม่ลงมติรับ คสช.จะอยู่ต่อไป บทเฉพาะกาลยังให้ คสช.เลือกวุฒิสมาชิก 250 คน และวุฒิสมาชิกก็กลับมาเลือก

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกครั้ง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และรัฐบาล มีที่มาจากการรัฐประหาร จึงไม่เป็นประชาธิปไตย” 

5. รัฐบาล ล้มเหลวในการบริหารประเทศ 

“คสช.และรัฐบาล ล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจ” ตลอด 6 ปี ประชาชนถูกคุกคามมากกว่า 783 ราย  ถูกดำเนินคดีต่าง ๆ มากกว่า 1,219 ราย ยังถูกจำคุกอยู่ราว 28 ราย ลี้ภัยทางการเมืองมากกว่า 104 ราย และอาจถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 10 ราย ด้านเศรษฐกิจ ในปี 2563 นี้ ประเทศไทยเป็นหนี้สาธารณะถึง 7.43 ล้านล้านบาท ประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือน 13.48 ล้านล้านบาท และ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบถึง 12.2 %     

.

"กลุ่มเพื่อนสาธารณสุข เพื่อประชาธิปไตย" จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่ให้ "รัฐบาลต้อง 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ยุบสภา"