ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักวิชาการอิสระ สะท้อนทิศทางการปฏิรูปควรปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุข อย่างแท้จริง หนุนนโยบายรมว.สธ. “30 บาทรักษาทุกที่” พร้อมเสนอทางออกลดปัญหางบประมาณ รพ.ขาดทุน -ความแอดอัด อีกทางเลือกร่วมจ่ายตามรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำคนจนคนรวย

 

เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่เห็นชัดยังต้องยกให้กับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รู้จักกันดี คือ สิทธิ์บัตรทอง หรือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาได้ทุก รพ. นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่ปรับเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้าง

กระทั่งล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า จะกระทบต่อการรับบริการในรพ.ขนาดใหญ่ และเรื่องงบประมาณ กับบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่

จนเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามว่า การปฏิรูปงานด้านสาธารณสุขจะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในแผนด้วยหรือไม่ หรือการปฏิรูปยุคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อระบบสาธารณสุขอย่างไร...

“การปฏิรูปต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหรือระบบงานสาธารณสุขของประเทศ ไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย...” ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร นักวิชาการอิสระและ ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานด้านการปฏิรูปงานสาธารณสุข เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.เฉลิมพล เกี่ยวกับมุมมองการปฏิรูประบบสาธารณสุข ดังนี้...

*นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะเปลี่ยนปฏิรูประบบสาธารณสุข

เท่าที่ติดตามข่าวนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาล ส่วนสถานพยาบาลต้องมีระบบตามจ่ายที่ดี ไม่ทำให้เกิดภาวะขาดทุน ซึ่งการลดความเหลื่อมล่ำในการรับบริการ ควรมีการร่วมจ่าย หรือโควเพย์เมนท์ (Co -payment) ตามสัดส่วนรายได้ เพราะคนรวยไม่ควรมารับสิทธิ์รักษาฟรีทั้งหมด แต่ควรจ่ายบ้าง ส่วนที่กังวลว่า รพ.จะแออัดก็ต้องมาระดมสมองหาวิธีในการจัดการปัญหาอย่างองค์รวม หากทำได้ตรงนี้เรียกว่าปฏิรูปจริงๆ

*ปฏิรูปสาธารณสุขต้องปรับโครงสร้างหรือระบบ

จากการที่เคยทำงานสมัยดำรงตำแหน่งอนุกรรมสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะนั้นเปิดเวที 800 เวทีทั่วประเทศ และประเด็นที่รับฟังจะมีประมาณ 20 ประเด็นที่ทาง สปช.กำหนดไว้ โดยคำถามที่ถามนั้น เป็นการเปิดกว้างให้ตอบ ซึ่งรวมๆมีข้อเสนอเป็นแสนความคิดเห็น แต่เฉพาะเรื่องสาธารณสุขมีความเห็นเกือบ 5 พันความคิดเห็น ซึ่งมาจากหลายช่องทาง โดยความคิดเห็นที่มีการแบ่งหมวดหมู่ พบว่า สิ่งที่ต้องการปฏิรูปมากที่สุด คือ ระบบหรือโครงสร้างของสาธารณสุข รองลงมาเป็นเรื่องบุคลากร งบประมาณ กฎหมาย เห็นได้ว่า จุดสำคัญของการปฏิรูป คือ โครงสร้าง หรือระบบ แต่เมื่อมีการทำงานมาเรื่อยๆ คณะทำงานต่างๆก็มีการแตกประเด็นออกไป

*ปฏิรูปองค์กรเหมือนอากาศในลูกโป่ง

โครงสร้างขององค์กรปรับได้ แต่เวลาปรับแล้วก็เหมือนอากาศในลูกโป่ง เมื่อบีบตรงนี้ก็ไปโป่งตรงนั้น ก็จะวนเวียน ดังนั้น เรื่องที่เราควรทำที่สุด คือ ทำอย่างไรให้ทั้งระบบมีการปรับเปลี่ยนพร้อมกันในเวลาเดียวกัน สอดคล้องกัน หากจะมีการปฏิรูป ต้องดูองค์กรในภาพรวมทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างทำยาก เพราะมีประเด็นยิบย่อย

*รวม 3 คณะทำงานกับหน้าที่ปฏิรูปงานสาธารณสุข...ปฏิรูปจริงหรือ

ปัจจุบันคณะทำงานด้านปฏิรูป มี 3 ชุด คือ 1. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข มีศ..คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร เป็นประธาน 2.คณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธาน และมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข หรือเรียกว่าเป็นชุดติดตามตรวจสอบเร่งรัด และ 3.คณะกรรมการปฎิรูปของกระทรวงสาธารณสุข โดยชุดที่มีศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม ทราบว่ามีเรื่องผู้สูงอายุ โรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเรื่องพวกนี้เหมือนเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่แล้ว แบบนี้ไม่ได้ปฏิรูป แต่เป็นการศึกษา วิเคราะห์ ส่วนอีกคณะที่มีการปฎิรูป ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ก็ไม่แน่ใจว่ามีการร่วมกับสภาพัฒน์หรือไม่

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

*30 บาทรักษาทุกที่ ถ้าทำได้..ปฏิรูประบบสาธารณสุขของจริง

กระทั่งล่าสุดที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ออกมาพูด จริงๆเข้าท่าเพราะมีผลทั้งระบบ ซึ่งถือว่าปรับเปลี่ยนระบบ จากปัจจุบันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้ค่ารายหัวกับหน่วยบริการในพื้นที่ แต่วิธีการนี้มีปัญหามากในปัจจุบัน อย่างประชาชนไปห้ามการย้ายข้ามเขตไม่ได้ การให้ค่ารายหัวตามประชากร บางจังหวัดค่ารายหัวก็น้อย ต้นทุนรพ.การดำเนินการของรพ.ก็ไม่พอ ขณะเดียวกันประชาชนก็ไปใช้บริการ รพ.ใหญ่ และไปบังคับให้ประชาชนไปใช้บริการหน่วยแพทย์ปฐมภูมิ หลายคนก็ไม่สะดวก เพราะหลายคนยังรู้สึกว่า เวลาป่วยอยากไปหาหมอที่ รพ. การให้ไปรักษาตามคลินิกหมอครอบครัว หรือ รพ.สต. ก็ไม่ค่อยอยากไป ที่สำคัญญาติก็ต้องไปด้วย แต่ถ้ามีป่วยขึ้นมาแล้วรักษาที่ไหนก็ได้ก็จะช่วยพวกเขามาก เพราะบางคนย้ายบ้าน แต่ไม่สะดวกย้ายทะเบียนบ้าน เขาทำรักษายังไง เหมือนการบริการแพทย์ฉุกเฉิน ที่รักษาที่ไหนก็ได้หากฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันหมด ตอนนี้เหลือเพียงระบบงบประมาณ

*ต้องจัดการเรื่องข้อกังวลแห่ไปใช้ รพ.ใหญ่ จนเกิดความแออัด และเรื่องงบประมาณ

เมื่อมีนโยบายนี้ออกมา ย่อมต้องมีความกังวลหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเรื่องคนแห่ไปรพ.ใหญ่ เกิดความแออัด แล้วจะย้อนแย้งกับการให้บริการระบบปฐมภูมิหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำควบคู่กันได้ เพียงแต่ต้องจัดระบบให้ดี จริงๆ การกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะพื้นที่จะเข้าใจปัญหา ดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม บัตรทองทำกันมามากกว่า 20 ปี ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่รายละเอียดก็ต้องมีการทบทวนเพื่อให้การบริการต่อประชาชนดีขึ้น รวมทั้งสถานพยาบาลต้องไม่รับผลกระทบ

อย่างเรื่องทุกคนทุกรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เห็นด้วยสำหรับผู้ที่มีฐานะยากไร้ หรือไม่สามารถจ่ายได้ แต่ควรมีการร่วมจ่ายในบางกลุ่มตามสัตส่วนของรายได้ ซึ่งเป็นการจ่ายก่อนใช้บริการ หากทำแบบนี้คุณอยู่ที่ไหนจะใช้บริการที่ไหนก็ได้ จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องค่ารายหัว แต่ก็เข้าใจว่า ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะทุกคนคิดว่าเป็นสิทธิ์ที่พึงได้รับ แต่การลดความเหลื่อมล้ำนั้น หากคนรวยได้เหมือนคนจน โดยไม่ต้องจ่ายอะไร ก็ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะไปเบียดคนจน อย่างงบประมาณตรงนี้หากให้คนจนจริงๆเลย อาจได้รับการบริการดีกว่านี้ หากมีการร่วมจ่ายตามสัดส่วนรายได้ มองว่าปัญหาเรื่องงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกที่ก็จะทำได้ เพียงแต่เราต้องมีระบบข้อมูล การขึ้นทะเบียนที่ดี ที่สำคัญการร่วมจ่ายยังทำให้คนรู้สึกหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้นด้วย

*30บาทรักษาทุกที่+ร่วมจ่ายตามรายได้ อีกทางเลือกการปฏิรูป

“ ผมเห็นด้วยนโยบายท่านอนุทิน เพราะปัจจุบันระบบบริการสาธารณสุขเราพัฒนาดีขึ้นเยอะ ดังนั้น หากยึดประชาชนเป็นหลัก เหมือนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกำหนดเรื่องโควเพย์เมนท์ จ่ายตามระดับสถานะทางเศรษฐกิจของท่าน จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป ซึ่งจะทำให้คนจะไปทำงานที่ไหนก็ไม่ต้องห่วง และหน่วยบริการก็ไม่ต้องห่วง แต่ก็จะต้องมีงบประมาณที่มีต้นทุนคงที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการให้ได้ เพราะถ้าหากผู้รับบริการไปใช้ที่ไหนก็ได้ แล้วงบประมาณไม่ไปตามผู้รับบริการก็จะมีปัญหา ซึ่งแพทย์ฉุกเฉินทำได้แต่ไม่มาก แต่ถ้าเป็นแพทย์ทั่วไปจะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเตรียมระบบให้ดี”

นอกจากนี้ ในเรื่องการกระจุกตัว ทางรพ.ขนาดเล็กก็จะกังวลว่า จะอยู่อย่างไร คนจะไปใช้บริการรพ.ใหญ่ ก็เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันคิด แต่ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้น่าจะทำได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือจะทำจากเขตสุขภาพก่อนก็ได้ โดยอาจต้องปรับค่ารายหัว โดยดูจากประชากรจริงที่มาใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้ในร่างปฏิรูปแผนสาธารณสุข ไม่มี แต่เป็นเรื่องการปรับปรุง

อีกมุมมองการปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่ต้องคิดอย่างหนักและรอบด้าน...