ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลประเมินเฝ้าระวังกิจการร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 164 แห่ง พบร้อยละ 96 มีจุดบริการล้างมือ ร้อยละ 90 กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ขณะที่สวมหน้ากากอนามัย 80%

​พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์คนต่างด้าว ของสำนักบริหารต่างด้าว กรมการจัดหางาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 พบมีจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต ในประเทศไทย 2,419,452 คน ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีทั้งทำหน้าที่ปรุงประกอบอาหาร สัมผัสอาหาร และให้บริการแก่ลูกค้าที่เข้ามานั่งรับประทานหรือซื้อกลับบ้าน รวมไปจนถึงร้านที่ให้บริการด้านความบันเทิงร่วมด้วย เช่น การจัดแสดงคอนเสิร์ต ผับ บาร์ เป็นต้น

จากผลการตรวจประเมินเพื่อการเฝ้าระวังกิจการประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่มของกรมอนามัยล่าสุด จำนวน 164 แห่ง พบว่า ในร้านอาหารและเครื่องดื่มมีจุดบริการล้างมือร้อยละ 96 กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพื่อลดความแออัดร้อยละ 90 เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลร้อยละ 81 สวมหน้ากากร้อยละ 80 แต่ยังคงต้องเน้นย้ำการทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยที่พบเพียงร้อยละ 77 นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานบริการประเภท ผับ บาร์ คาราโอเกะ ลานเบียร์ โรงเบียร์ โรงเหล้า จำนวน 93 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสถานบริการทุกแห่ง มีจุดบริการล้างมือ แต่กำหนดจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพื่อลดความแออัดได้เพียงร้อยละ 80 เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ร้อยละ 83 สวมหน้ากาก ร้อยละ 92 และมีการทำความสะอาด ร้อยละ 96

​พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในสถานที่เหล่านี้ นอกจากจะต้องดูแลด้วยการพาไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและตรวจคัดกรองโรคให้เรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด 19 ตั้งแต่ 1) ให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ 2) ให้พนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นนักร้อง นักดนตรี ให้ถอดหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาแสดงดนตรีหรือร้องเพลง และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่จำเป็นสำหรับพนักงาน คัดกรองพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แผ่นใสครอบหน้า (Face shield) ถุงมือ เป็นต้น 3) จัดให้มี ที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่างๆ ของสถานบันเทิง 4) จำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการไม่ให้แออัด 5) ลดระยะเวลาโดยการจองทางออนไลน์ และลดการสัมผัส เช่น มีระบบการจ่ายเงินแบบออนไลน์ใช้ถาดหรืออุปกรณ์ในการรับเงิน เป็นต้น

​“ข้อปฏิบัติถัดมา คือ 6) มีการจัดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างบุคคล โต๊ะในร้าน และระหว่างเวทีกับ ผู้มาใช้บริการ 7) ควบคุมไม่ให้มีกิจกรรมอื่นที่ใช้เสียงดัง (นอกจากการแสดงบนเวที) หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจ มีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ 8) ให้ทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณ ที่มีการสัมผัสร่วมกัน และ9) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีสถานที่อยู่ในอาคารหรือเป็นพื้นที่ปิดควรจัดทำระบบระบายอากาศหรือปรับอากาศให้มีอัตราการหมุนเวียนของอากาศอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว