ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันอังคารที่ 22 กันยายนที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบหลักการให้สิทธิ(คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียนโดยมีเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้วจำนวน 3,042 คน ซึ่งครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในอัตราคนละ 2,453.95 บาท เท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภสาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมงบประมาณทั้งสิ้น 7.46 ล้านบาท

ทั้งนี้ การคืนสิทธิด้านสาธารณสุขให้กับนักเรียนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในสถานศึกษา หรือนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G กว่า 90,640 คน หลังผ่านมานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุดที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติเรื่องการให้สิทธิ(คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมจำนวน 690,111 คน โดยพบว่ายังมีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ได้รับสิทธิด้านการศึกษาแต่ยังไม่ได้รับสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพ ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายตามมติครม. และจากการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวมหาดไทย ที่ได้ประมวลผลข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา และได้กำหนดเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3,042 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นควรเสนอให้ครม.พิจารณาให้สิทธิดังกล่าว  

สำหรับการห้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการดำเนินงานและสามารถจัดบริการให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขึ้นทะเบียนตามระบบเพื่อให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยบริการในสังกัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2563 ดังนี้

ปีงบประมาณ 2553 ผู้มีสิทธิ 462,389 คน งบประมาณ 384 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2554 ผู้มีสิทธิ 459,844 คน งบประมาณ 918 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2555 ผู้มีสิทธิ 459,306 คน งบประมาณ 433 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 ผู้มีสิทธิ 461,974 คน งบประมาณ 863 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 ผู้มีสิทธิ 507,654 คน งบประมาณ 973 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ผู้มีสิทธิ 502,172 คน งบประมาณ 973 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 ผู้มีสิทธิ 552,493 คน งบประมาณ 1,279 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ผู้มีสิทธิ 588,334 คน งบประมาณ 1,319 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561ผู้มีสิทธิ 572,874 คน งบประมาณ 1,305 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ผู้มีสิทธิ 576,812 คน งบประมาณ 1,409 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2563 ผู้มีสิทธิ 548,359 คน งบประมาณ 1,471 ล้านบาท โดยจำนวนผู้มีสิทธิที่ลดลงในแต่ละปี เนื่องจากมีการจำหน่ายเสียชีวิต หรือการย้ายสิทธิออกจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข