ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งยังคงแพร่ระบาดรุนแรงทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 31 ล้านคน เสียชีวิตแล้วถึง 9 แสนรายทั่วโลก วัคซีนยังคงเป็นความหวังเดียว ซึ่งไม่เพียงแต่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด แต่ยังจะช่วยหยุดยั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายผลรุนแรงเช่นกัน

อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่องค์กรการกุศลอ็อกซ์แฟม (Oxfam) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยอ็อกซ์แฟมอ้างข้อมูลจากบริษัทซอฟท์แวร์ของอังกฤษซึ่งพบว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยซึ่งมีประชากรรวมกัน 13 % ของประชากรโลก สั่งจองวัคซีนจากผู้วิจัยที่มีความคืบหน้ามากที่สุด 5 รายรวมกันแล้วกว่า 51 % ของจำนวนที่คาดว่าจะผลิตได้นี่คือประเด็นซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย คณะทำงานของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ศึกษาแนวทางการได้วัคซีนของประเทศไทย ทั้งการจัดซื้อ การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ศักยภาพของประเทศต่างๆ ซึ่งกำลังวิจัยทดลองวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทยจากประเทศเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายต่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

 

นโยบายต่างประเทศเพื่อความมั่นคงในการเข้าถึงวัคซีนเพื่อควบคุมโรคระบาดทั่วโลกของประเทศไทย

 

จากการประเมินสถานการณ์โควิด 19 คาดว่า การระบาดน่าจะยืดเยื้อยาวนานอย่างน้อย 2 ปี จนถึงปลายปี 2564 หรือ กลางปี 2565 เนื่องจากการควบคุมโรคระบาดในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป มีปัจจัยในการควบคุมโรคหลายปัจจัยที่ไม่เหมาะสม ทั้งการมีวัฒนธรรมการทักทายที่ใกล้ชิด การตีตราผู้ใช้หน้ากากอนามัย การปกป้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเหนือมาตรการควบคุมโรคระบาด และการนำของประเทศโดยผู้นำที่ไม่ยึดหลักวิทยาศาสตร์เป็นหลักในการตอบสนองต่อการระบาด แต่ระบบทุนนิยมเน้นปัจจัยเศรษฐกิจเป็นที่ตั้งในการเลือกใช้มาตรการตอบสนองต่อการระบาดของโรค ทำให้การระบาดของโรคโควิด 19 มีการดำเนินการระบาดอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และคาดว่าประเทศส่วนใหญ่จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2563

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการในระยะต่อไป เพื่อสามารถประคองกิจการของประเทศให้ดำเนินไปได้และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในบริบทที่การระบาดจะแพร่ไปจนกว่าจะมีการติดเชื้อถีงร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งใช้ระยะเวลาการระบาดไม่น้อยกว่า 2 ปี และจะมีการระบาดใหญ่อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง การยุติการระบาดจะจบลงได้อย่างแท้จริงต่อเมื่อมีสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นมากพอ ในประชากร (หรือที่รู้จักกันคือ ภูมิคุ้มกันหมู่ herd immunity) ซึ่งวิธีที่ดีกว่าในการทำให้เกิด ภูมิคุ้มกันหมู่ คือการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประชาชนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของประชากร

ในการนี้ “วัคซีน” จัดเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการป้องกันควบคุมโรคและทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้การเร่งรัดให้มีวัคซีนเร็วขึ้น แม้เพียงไม่กี่เดือนจะยังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้มาก และการเข้าไม่ถึงวัคซีน แม้เพียงจะล่าช้าไปบ้าง ก็อาจทำให้เสียเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ โดยเฉพาะเมื่อความล่าช้านั้นเกิดความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ

ดังนั้น เป้าหมายของประเทศจึงควรเตรียมการทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นให้เข้าถึงวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดของโรค จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเข้าถึงวัคซีนเพื่อป้องกันประชากรส่วนใหญ่จากการติดเชื้อโควิด 19 ทำให้รัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อการเข้าถึงวัคซีน

หน่วยงาน CEPI ได้ดำเนินการประมาณการวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้จากประชากรทั่วโลกโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัย คาดการณ์ว่าวัคซีนโควิด 19 จำเป็นจะต้องมีปริมาณสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ สำหรับประชากรโลกทั้งหมด โดยเรียงตามลำดับความสำคัญของกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้

กลุ่มเป้าหมายสำหรับฉีดวัคซีน

จำนวนประชากร

บุคลากรทางการแพทย์

~58 ล้านคน

บุคลากรสำคัญ(ด่านหน้า)

~157 ล้านคน

กลุ่มเสี่ยงสูง โรคร่วม*

~925 ล้านคน

กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี

~705 ล้านคน

กลุ่มวัยทำงาน 20 ถึง 64 ปี

~4.5 พันล้านคน

กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี

~3.3 พันล้านคน

 

*Includes diabetes, HIV/AIDs, TB, chronic respiratory and CV disease but further research and refinement needed

 

ปริมาณความต้องการวัคซีนมีปริมาณมากแต่กำลังการผลิตวัคซีนมีจำกัด เนื่องจากโรงงานผลิตวัคซีนต้องใช้เวลาก่อสร้าง จัดหาอุปกรณ์และ ฝึกบุคลากรเพื่อเตรียมการผลิต อย่างน้อย 3 ปี เมื่อต้องการผลิตวัคซีนโควิด 19 ภายในปี 2564 จำเป็นต้องผลิตในโรงงานผลิตวัคซีน หรือ โรงงานผลิตยาอื่น ที่สามารถปรับสายการผลิตมาผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยบริษัทยาข้ามชาติได้เร่งทำข้อตกลงกับโรงงานผลิตยาและวัคซีน เพื่อที่จะได้มีกำลังการผลิตพอเพียงในกรณีที่สามารถวิจัยพบวัคซีนโควิดได้เป็นผลสำเร็จ เช่น การทำข้อตกลงระหว่างบริษัท AstraZeneca กับ Serum Institute of India

โรงงานผลิตวัคซีนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศในกลุ่ม BRICS ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Vaccine Nationalism หรือ วัคซีนชาตินิยม ในสภาวะการระบาดทั่วโลก มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในประเทศเป็นจำนวนมาก แรงกดดันทางการเมืองจะมีผลทำให้ผู้นำประเทศต้องให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนกับประชากรในประเทศตนก่อน โดยเฉพาะนักการเมืองที่อิงฐานเสียงชาตินิยม เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์ของประเทศสหรัฐอเมริกาทีใช้สโลแกน Make America Great เป็นที่คาดการณ์กันว่าบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องผลิตวัคซีนได้เกินจำนวนประชากรถึงจะส่งออกวัคซีนไปขายยังประเทศอื่นได้ ทำให้ประเทศที่ไม่มีกำลังการผลิตวัคซีนจะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็ว อาจจะต้องรอจนกว่ากำลังการผลิตวัคซีนโควิดล้นความต้องการของประเทศขนาดใหญ่ ถึงจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้ ซึ่งอาจจะล่าช้าไปจนถึงปี 2565

 

ไทยควรดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19

 

แนวทางการเข้าถึงวัคซีนของแต่ละประเทศ

          การจัดซื้อรวม

การเข้าถึงวัคซีนด้วยกลไกตลาดระหว่างประเทศคือการดำเนินการโดยใช้หลักทฤษฎีการจัดซื้อรวมเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงแบบทัดเทียมกันของรัฐชาติต่างๆ ซึ่งรัฐชาติขนาดเล็ก และมีขนาดเศรษฐกิจเล็ก จะมีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนได้น้อยกว่ารัฐชาติขนาดใหญ่

COVAX facility เป็นรูปแบบการดำเนินการจัดซื้อรวมข้ามชาติเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนผ่านกลไกที่กำลังจัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก และ BMGF (Bill and Melinda Gates Foundation) เป็นกลไกที่กำลังเสนอจัดตั้ง

 

การพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี

การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่สามารถดำเนินการผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์ซึ่งประเทศที่ด้อยเทคโนโลยีมักจะใช้กลไกนี้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศของตน เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศต่างๆ

องค์การอนามัยโลกได้พัฒนากรอบการพัฒนากำลังผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านเครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีในการสร้างศักยภาพการผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาที่ยั่งยืนแต่มีข้อเสียคือการดำเนินการในลักษณะพหุภาคีทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการนาน

ความร่วมมือ BRICS เพื่อวิจัยวัณโรค เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือในการวิจัยระหว่างประเทศ Brazil Russia India China และ South Africa ซึ่งมีการสร้างความร่วมมือในระดับรัฐบาลและติดตามความร่วมมือด้านวิจัยปีละ 4 ครั้ง ซึ่งทำให้เกิดนวัตกรรมในการยุติวัณโรคทั้ง ชุดตรวจใหม่ วัคซีน และ ยาใหม่ ผ่านการสร้างความร่วมมือในการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม และยุติปัญหาที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ

 

แนวทางของประเทศไทย

 

ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติพ.ศ. 2561 ซึ่งมีเป้าประสงค์สำคัญที่จะให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้าถึงวัคซีนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ประเทศไทยได้จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างขีดความสามารถของประเทศให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนและพึ่งพาตนเองได้

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับประชาคมวิจัยวัคซีนได้ร่วมกันจัดทำ แผนเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประชาชนไทย เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานงานสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนในการบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้ทันท่วงที และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาผลิตวัคซีนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้เห็นชอบ แผนเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประชาชนไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563

สาระสำคัญในการขับเคลื่อนแผนเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1.การเตรียมการผลิตวัคซีนโดยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ

2.การวางแผนจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้า

3.การวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถในระยะกลางและยาว

การดำเนินงานทั้ง 3 ส่วน เป็นกลยุทธ์ที่ส่งเสริมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนพร้อมหรือใกล้เคียงกับประเทศอื่นทั่วโลก และทั้ง 3 ส่วนจะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกันไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการเดียวโดยลำพังได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

การซื้อวัคซีน : มีความซับซ้อนน้อยที่สุดในแง่ของความซับซ้อนด้านกระบวนการและวิธีดำเนินงาน แต่บทเรียนจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่าในช่วงที่มีการระบาด เราไม่สามารถคาดหวังในการซื้อวัคซีนได้ แม้ว่าจะมีงบประมาณสนับสนุน เพราะทุกประเทศต่างต้องการวัคซีนไว้ใช้ให้ประชาชนในประเทศของตน โดยกำลังการผลิตวัคซีนนั้นมีจำกัดทำให้ประเทศที่ไม่มีกำลังการผลิตวัคซีนเป็นของตนเองยากที่จะเข้าถึงวัคซีนแม้จะมีงบประมาณในการจัดซื้อ

การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีน : จะมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตวัคซีนได้สำเร็จในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ต่อเมื่อประเทศนั้นนั้นมีศักยภาพในการผลิต ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนต่ำ แม้จะมีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศถึง ๓ โรงงาน คือ โรงงานของสภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม และของ บริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด แต่โรงงานเหล่านี้ผลิตวัคซีนในปริมาณสำหรับใช้ในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีศักยภาพในการส่งออกเพียงโรงงานเดียวคือโรงงานวัคซีนของ บริษัท ไบโอเนท เอเชียจำกัด

จากการประเมินของผู้ทำการศึกษาคาดว่า ภายใน 1 ปี ผู้ผลิตวัคซีนภายในประเทศไม่สามารถที่จะปิดช่องว่างในการดำเนินการเหล่านี้ผ่านการลงทุนภาครัฐที่มักจะล่าช้า หรือเตรียมการให้มีความพร้อมเพื่อรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศได้

ข้อสรุปนี้เป็นข้อสรุปส่วนบุคคลของผู้ทำการศึกษา ซึ่งต่างจาก ผลจากการหารือและการลงเยี่ยมผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ (นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญการผลิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันและควบคุมคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การอนามัยโลก) ระหว่างวันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้มีผู้ผลิตยาชีววัตถุในประเทศไทยที่มีศักยภาพ และสามารถปรับกระบวนการผลิตยาชีววัตถุมาเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนในกลุ่มที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ เนื่องจากโรงงานผลิตวัคซีนทั่วโลกไม่สามารถสร้างโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนได้ทันภายในปี 2563 หรือ 2564 เนื่องจากการสร้างโรงงานต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงต้องเน้นการเปลี่ยนสายการผลิตของโรงงานยาหรือวัคซีนที่มีอยู่มาใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

การสร้างขีดความสามารถของประเทศในระยะกลางและยาว โดยการพัฒนาวัคซีนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีวัคซีนต้นแบบในหลายเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง และควรมีการเตรียมความพร้อมในระยะกลางและยาว สำหรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโดยใช้เซลล์ เพื่อรองรับวัคซีนที่พัฒนาในประเทศและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดในอนาคต เพื่อสามารถเริ่มผลิตวัคซีนเองได้ในกรณีการระบาดของโรคติดต่ออื่น

สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดทำแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 สำหรับประเทศไทย ในรูปแบบการผลิตด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศ โดยต้องดำเนินการหลายมาตรการสำคัญประกอบกัน เพื่อเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง และตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในการศึกษานี้ ผู้ทำการศึกษาได้วางแนวทางในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยไว้เป็น 2 แนวทางดังต่อไปนี้

1.การจัดซื้อล่วงหน้า และ 2.การผลิตวัคซีนด้วยศักยภาพของภาคเอกชน และภาครัฐในประเทศไทย โดยตัดการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ขั้นต้นออกเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ก่อนปี 2565

สำหรับแนวทางการจัดซื้อวัคซีนโควิดด้วยงบประมาณของประเทศไทย มีข้อจำกัด ดังต่อไปนี้

ก) ข้อจำกัดของการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดซื้อวัคซีน ทั้งในกรณีการจองซื้อวัคซีนที่ยังไม่ได้ทดสอบประสิทธิภาพ และ การจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า

ข) ข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนเนื่องจาก ข้อจำกัดของปริมาณการผลิตวัคซีนในโลก

ค) ความกดดันจากอุดมการณ์ชาตินิยมของประเทศที่มีศักยภาพผลิตวัคซีน เช่น นโยบาย American First และ Operational Warp speed ทำให้วัคซีนที่จะผลิตขึ้นในปี 2565 จากบริษัทยา 7 แห่ง ได้ถูกจองไว้หมดแล้วโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการให้ทุนให้เปล่าเพื่อเตรียมการผลิตวัคซีนโควิด 19

นอกจากนี้ประเทศที่มีโรงงานวัคซีนสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อขายวัคซีนที่ผลิตขึ้นในประเทศก่อนจะส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับ ประเทศออสเตรเลีย ในเหตุการณ์การผลิตวัคซีนไข้หวัดนกในปี 2005 เมื่อรัฐบาลออสเตรเลียบังคับให้ผู้ผลิตวัคซีนในประเทศผลิตวัคซีนสำหรับไข้หวัดนกขายวัคซีนให้กับผู้ซื้อภายในประเทศให้เพียงพอก่อนจะดำเนินการส่งออกได้

องค์การอนามัยโลกได้มีความพยายามที่จะสร้างกลไกในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านการแบ่งปันเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นเชื้อตั้งต้นสำหรับการผลิตวัคซีนผ่านกลไก Pandemic influenza preparedness framework (PIP) ซึ่งในอดีตการเข้าถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ และ การเข้าถึงในระยะแรกจะทำให้มีโอกาสสูงที่จะผลิตวัคซีนได้ก่อนคู่แข่งทางการค้าทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการและมีการตกลงกันได้ระหว่างหน่วยงานระดับนานาชาติ แต่สำหรบโรคโควิด ๑๙ ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง ทุกประเทศสามารถเข้าถึงตัวเชื้อโรคได้ตั้งแต่ระยะต้นของการระบาดทำให้ข้อตกลงในลักษณะ PIP ยากที่จะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากทุกประเทศสามารถเข้าถึงเชื้อโรคสำหรับผลิตวัคซีนได้ ทำให้ประโยชน์ของข้อตกลงดังกล่าวหมดไป

ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ เนื่องจาก ประเทศเหล่านี้ไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือ ไม่มีระบบการใช้งบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัสดุจากการวิจัยล่วงหน้า แตกต่างจากระบบการจัดซื้อของประเทศพัฒนาแล้ว โดยในประเทศพัฒนาแล้วมีนวัตกรรมทางการเงินหลายชนิดสำหรับการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เช่น การให้ทุนให้เปล่าแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี (Small and medium business innovation grant) Advance market commitment (AMC) การขายพันธบัตรเพื่อการจัดซื้อวัคซีน เป็นต้น เนื่องจากประเทศที่มีโรงงานผลิตวัคซีนตั้งอยู่มักใช้อำนาจรัฐที่จะบังคับให้โรงงานผลิตวัคซีนดังกล่าว ผลิตวัคซีนเพื่อประชากรของตน ผ่านการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ ผ่านการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคง โดยจะเห็นกรณีพาดพิงในระดับนานาชาติ เช่น บริษัท Molbion ในประเทศเยอรมณีที่มีข้อขัดแย้งกับประเทศ สหรัฐอเมริกาจากการจองซื้อวัคซีนที่ผลิตทั้งหมดจากบริษัท ซึ่งประเทศเยอรมนีไม่ยินยอมเพื่อให้ประเทศที่ไม่มีกำลังการผลิตวัคซีนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด ๑๙ ได้ มีความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ โดยเน้น ความเป็นโรคระบาดทั่วโลกและแนวคิด “no one safe, if everyone is not safe” ซึ่งผลักดันโดยองค์การอนามัยโลก และ องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร คือ Bill and Melinda gate foundation ที่ผลักดันให้ Global alliance for vaccine investment (GAVI) ให้จัดทำโครงการ COVAX facility เพื่อรวบรวมความต้องการการจัดซื้อวัคซีนในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดโอกาสในการต่อรองกับบริษัทผลิตวัคซีน

เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีความเสี่ยงสูง CEPI ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยสำหรับบริษัทที่วิจัยวัคซีน และสนับสนุนโดยฺ BMGF ได้ให้ทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนบริษัทผลิตวัคซีนไว้หลายบริษัท โดยบริษัทผลิตวัคซีนเหล่านี้ได้มีข้อตกลงกับ BMGF ในการเข้าถึงวัคซีนในกรณีที่การวิจัยวัคซีนประสบความสำเร็จ โดยการผลิตวัคซีนด้วยศักยภาพของภาคเอกชน และภาครัฐในประเทศไทย

ประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีโรงงานผลิตวัคซีน และ บรรจุวัคซีนทั้งของภาครัฐและเอกชน แต่หน่วยงานดังกล่าวไม่สามารถสร้างระบบนิเวศสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ยั่งยืนได้สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดตั้งขึ้นตาม มติ ของคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. .... โดยมี พระราชบัญญัติวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. เป็นกฎหมายสำหรับการสร้างระบบวัคซีนในประเทศไทย

ประเทศไทยมีโรงงานวัคซีน ดังต่อไปนี้

ชื่อโรงงาน/บริษัท

ยาหรือวัคซีนที่ผลิต

ศักยภาพผลิตวัคซีนโควิด

องค์การเภสัชกรรม

Influenza ไข้หวัดใหญ่

มี ผลิตวัคซีนจากไข่ไก

GMP-Merreux

เป็นโรงงานบรรจุวัคซีน

มี

Bionet Asia มี วัคซีนดีเอนเอ

วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์

มี วัคซีนดีเอนเอ

Siam Biosciences

ชีววัตถุ

มี Viral vector vaccine

 

ศักยภาพการผลิตวัคซีนและนโยบายของแต่ละประเทศต่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19

ประเทศจีน

ศักยภาพการผลิตวัคซีน : การประกาศของประธานาธิบดีXi jin ping ในเวทีองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าจะผลักดันให้วัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนกลายเป็น สินค้าสาธารณะ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามและผลักดันความร่วมมือในระดับทวิภาคี ร่วมกับประเทศจีน เนื่องจากบริษัทผลิตวัคซ๊นในประเทศจีนมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ รวดเร็ว เช่น บริษัท Cansino จำกัด บริษัท Sinovac จำกัด บริษัท Sinopharm จำกัด ซึ่งสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบจนเข้าสู่การวิจัยในคนได้อย่างรวดเร็ว

การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ : นอกจากนี้ประเทศจีนยังให้เงินกู้เพื่อการจัดซื้อวัคซีนแก่กลุ่มประเทศละตินอเมริกา เป็นจำนวนเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ใช้จัดชื้อวัคซีนของจีน และประกาศให้วัคซีนที่จีนผลิตได้เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Good) ซึ่งประธานาธิบดี Duterte แห่งประเทศฟิลิปปินส์ได้ประกาศขอเข้าถึงวัคซีนจากประเทศจีนในลำดับแรก

 

ประเทศญี่ปุ่น

ศักยภาพการผลิตวัคซีน :  ประเทศญี่ปุ่นมีบริษัท ผลิตวัคซีน 4 บริษัท และสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเทคโนโลยีวัคซีน DNA เป็นการร่วมวิจัยและพัฒนาระหว่าง Osaka University และ Takara Bio โดยบริษัทร่วมทุนและบริษัท Shionogi ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่ นในการพัฒนาวัคซีนโควิด ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จในปี 2564

การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ : ประเทศญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ให้ทุนจัดตั้งโรงงานวัคซีน Indopharma ในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศอินโดนีเซีย พึ่งตนเองได้ด้านวัคซีน JICA ได้ประกาศให้ทุนให้เปล่าในลักษณะ ODA เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด ๑๙ แต่ยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศอื่น

 

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน่วยงานให้ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีงบประมาณในการวิจัยมากที่สุดในโลก และมีนักวิจัย รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ศึกษาวิจัยด้านวัคซีน และโรคติดเชื้อ

การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ : Operation warp speed เป็นโครงการพิเศษของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการเร่งรัดการพัฒนาวัคซีนให้ประสพความสำเร็จให้รวดเร็วที่สุด โดยการดำเนินการให้ทุนกับบริษัทผลิตวัคซีน 7 บริษัท โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทผลิตวัคซีนผลิตและจำหน่ายให้ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนประเทศอื่น โดยการให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนแก่บริษัทวัคซีนเหล่านี้

 

ประเทศสหราชอาณาจักร

ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Oxford แห่งสหราชอาณาจักร และ บริษัท AstraZeneca ทำให้ประเทศสหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายสำหรับการประเมินประสิทธิภาพวัคซีน โดยจะทราบผลความสำเร็จภายในเดือนกันยายน 2563

บริษัท AstraZeneca แม้ไม่ได้มีโรงงานผลิตวัคซีนแต่เป็นบริษัทยาข้ามชาติที่มุ่งมั่นในการผลิตวัคซีนโควิด 19 โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการตกลงธุรกิจและการจัดเตรียมกำลังการผลิตผ่านการทำข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีนและการปรับสายการผลิตของโรงงาผลิตยาและวัคซีนที่มีอยู่ โดยได้ทำข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตร่วมกับโรงงานวัคซีนในประเทศบราซิล ประเทศอินเดีย และประเทศไทย

การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ : รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม Vaccine Summit 2020 เพื่อระดมทุนจากประเทศต่างๆและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงาน CEPI เพื่อการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาและให้การสนับสนุนหน่วยงานวิจัยในประเทศเพื่อการวิจัยด้านวัคซีน

 

คาดการณ์และประมาณการกำลังการผลิตวัคซีนโควิด 19

หนังสือพิมพ์ New York Times ได้สรุปข้อมูลสำหรับกรณีการวิจัยและผลิตวัคซีนในสถานการณ์ปกติตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย นั้นใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 10 ปี โดยวัคซีนโควิด 19 ถ้าจะดำเนินการวิจัยและผลิตโดยใช้การดำเนินการตามแนวทางที่มีอยู่คาดการณ์ว่าจะได้วัคซีนในปีค.ศ. 2033 โดยการเร่งรัดและดำเนินการคร่อมขั้นตอนที่ดำเนินการในกรณีปกติ เช่นใช้ผลการวิจัยจากพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัส SARS ที่มีลักษณะคล้ายกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้สามารถข้ามขั้นตอนการวิจัยขั้นต้นในหลอดทดลองและการวิจัยในสัตว์เพื่อทดสอบความปลอดภัย และเข้าสู่การทดสอบประสิทธิภาพของไวรัสในสัตว์ทดลองได้ทันที เฉพาะขั้นตอนนี้ก็จะทำให้เร่งรัดกระบวนการวิจัยได้ 2-3 ปี โดยการเปิดเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โควิด 19 ของประเทศจีนในช่วงต้นเดือน มกราคม 2563 สู่ฐานข้อมูลสาธารณะตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาดถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนสามารถออกแบบวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ Bill Gates และ องค์การ GAVI คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้ ถึง 4,000 ล้านโดสต่อปี โดยการเจรจาต่อรอง และการให้ทุนให้เปล่าแก่บริษัทยา เพื่อให้พัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณลงทุนทั้งหมด 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมการผลิตวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดส ทั้งนี้การผลิตวัคซีนดังกล่าวจะถูกกระจายการผลิตไปยังประเทศที่มีฐานการผลิตยาและวัคซีน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาและวัคซีนของประเทศขนาดเล็กที่มีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงวัคซีน แม้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ยังแสดงความกังวลว่าประเทศญี่ปุ่นอาจเข้าไม่ถึงวัคซีนในระยะแรกเนื่องจากข้อจำกัดสำคัญคือ จำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ และ ต้องทำการวิจัยในคนอีกครั้งเมื่อนำวัคซีนเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น โดย Richard Hatchett, CEO ของ CEPI แสดงความกังวลว่า หลักคิดชาตินิยมจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประเทศต่างๆ

 

สรุป

การเข้าถึงวัคซีนในกรณีระบาดทั่วโลกของรัฐชาติต่างๆ เกิดได้จากสองกรณี คือ

1.การจัดชื้อ ซึ่งมีแนวทางในระดับนานาชาติที่ องค์การอนามัยโลกพยายามผลักดัน รการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการด้านการต่างประเทศ เช่น การจัดทำ Advance market commitment เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดซื้อวัคซีน โดยมีปัจจัยความสำเร็จตามทฤษฏีการจัดซื้อรวม

2.การสร้างศักยภาพในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงในการเข้าถึงวัคซีน โดยมีปัจจัยความสำเร็จตามทฤษฏีการถ่ายทอดเทคโนโลยี

เนื่องจากทั้งสองแนวทางต้องพึ่งการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐในประเทศผู้ผลิตวัคซีน และองค์กรนานาชาติ มาตรการดำเนินการด้านการต่างประเทศเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้ในปี 2564 การเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนสำหรับโรคโควิด 19 เป็นเป้าประสงค์ร่วมของรัฐชาติ และองค์การนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก GAVI และ สหภาพยุโรป ประเทศไทยควรวางมาตรการด้านการต่างประเทศให้ชัดเจนเพื่อผลักดันการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การเจรจาต่อรอง ให้เป็นที่ยอมรับของรัฐบาล และประชาชนในประเทศ เตรียมโอกาสให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้