ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อีกมุมมองต่อข้อกังวลปัญหาโรคช่องปากและฟันประชาชนรุนแรงและลุกลามมากขึ้นจาก Covid-19 อยู่นาน

การเข้าถึงการรักษาโรคช่องปากและฟันของประชาชนที่มีความลำบากและได้รับผลกระทบทำให้เข้าถึงบริการรักษาด้านทันตกรรมได้ยากขึ้นในช่วงการระบาดอย่างยาวนานของไวรัสโคโรน่า Covid-19 จนอาจนำมาสู่ปัญหาโรคช่องปากและฟันมีความรุนแรงและ ลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเห็นแนวโน้มภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรน่าCovid-19 ซึ่ง เกิดการระบาดเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานมามากกว่า 9 เดือน ตั้งแต่ทางการจีนได้แจ้งเกิดการระบาดของ Covid-19 ต่อ องค์การอนามัยโลก(WHO) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา

แม้ภาพรวม สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 จะถูกควบคุมได้เป็นอย่างดี และผู้ติดเชื้อที่พบใหม่ส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมดของผู้ติดเชื้อเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ในการกักตัว(State Quarantine), ดูแลรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล

แต่หากมอง สถานการณ์ภาพรวมทั้งโลกแล้ว การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 ในต่างประเทศหลายๆประเทศยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่องโดยในหลายประเทศมีทิศทางการแพร่ระบาดที่เรียกว่า การระบาดระลอกสอง Second Wave หรือ บางประเทศเป็นการระลอกแรกที่รุนแรง ต่อเนื่องและการระบาดขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อรวมและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นรวมทั่วโลก มียอดสะสมผู้ติดเชื้อถึงปัจจุบันร่วม 35 ล้านคน และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมเกิน 1 ล้านรายแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นมากกว่าในช่วงแรกของการระบาดในเดือน มีนาคม,เมษายน,พฤษภาคม ซึ่ง ณ สิ้นเดือน พฤษภาคม มีตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมประมาณ 6.1 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวม 3.7แสนราย

ซึ่งแนวโน้มจากตัวเลขรวมดังกล่าวทำให้เราควรจะต้องตระหนักให้มากและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่ยังเกิดอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบโดยเร็ว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่น่าสังเกต ในหลายประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาลได้ทั้งหมดเพราะเกินทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ และเกินกว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับได้ ในหลายประเทศแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19 แต่อาการไม่รุนแรง จึงถูกแนะนำให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ซึ่งนั้นเท่ากับการเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากในการแพร่เชื้อกระจายออกไปเพิ่มเติมอีกให้บุคคลใกล้ชิด,รอบข้าง แม้จะระมัดระวังเต็มที่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ป้องกันเทคนิค, ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของญาติผู้ติดเชื้อที่ต้องดูแลกันเอง ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าว ความสำเร็จในการจำกัดการติดเชื้อ การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ผู้ป่วยหายเร็วที่สุด ผลสำเร็จนั้น แตกต่างชัดเจนจากการการสร้างโรงพยาบาลชั่วคราวอย่างเพียงพอ เช่น ความสำเร็จในการควบคุม Covid-19 ในประเทศจีนอย่างได้ผล ในการทั้งจำกัดวงและ จำกัดช่วงเวลาในการระบาดได้ในที่สุด

ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความรุนแรงดังกล่าวในหลายประเทศ ทั้งยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีที่จะยุติสถานการณ์นี้ลงได้ จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่ผลกระทบจะต้องมีผลสะท้อนถึงประเทศไทยด้วย เพราะการเชื่อมต่อกับทุกๆประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทย เราต้องมีความระมัดระวัง เข้มข้นในการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศทุกๆทาง หรือ การระบาดระลอกสอง (Second Wave) โดยต้องการ์ดไม่ตกนั้นเอง และด้วยความยาวนานของการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า Covid-19  ย่อมส่งผลกระทบถึงการเข้าถึงการรับบริการรักษาทั้งโรคทั่วไปและรวมถึงโรคช่องปากและฟันของประชาชนที่จะมารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ทั้งมีการเลื่อนนัด,การตรวจเช็ค, การรักษาต่างๆออกไป ซึ่งหลายๆกรณีอาจเพิ่มความเสี่ยง ทำให้ความรุนแรง การลุกลามของโรค มีมากขึ้น ในกรณีโรคช่องปากและฟัน การห่างการรักษาออกไป ก็มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มความรุนแรงการลุกลามของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อจากฟัน, โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ โรคฟันผุ ก็มีความเสี่ยงที่จะรุนแรง ลุกลามมากขึ้นสุดท้ายนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันหลายๆซี่มากขึ้น ทำให้คนไข้เสียความสามารถในการเคี้ยวอาหารทำให้เกิดความลำบากในการทานอาหาร และการเคี้ยวอาหารมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลกระทบกับสุขภาพร่างกายโดยรวมเป็นอย่างมาก ทำให้ร่างกาย อาจเสื่อมโทรมเร็วขึ้นจากภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่การบริการรักษาด้านทันตกรรมจะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงวิธีการที่จะรับมือให้เหมาะสม ตั้งแต่การคัดกรองคนไข้ที่มีมาตรฐานสูงและ มีประสิทธิภาพสูงสุด และลดความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มความปลอดภัยจากสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19ทั้งของผู้รักษาคือ ทันตแพทย์ ทันตบุคลากรทุกๆคน ถึงคนไข้ทางทันตกรรมทุกๆคนที่เข้ามารับการรักษาบริการเนื่องจาก การรักษาด้านทันตกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทาง ฝอยละอองจากเครื่องมือ ค่อนข้างสูง ทั้งหมดก็เพื่อ ประโยชน์สูงสุดของคนไข้และประชาชนที่จะต้องอยู่กับสภาวการณ์ที่ยืดเยื้อครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ทุกๆฝ่ายก็ต้องไม่เพียงแต่ตั้งรับสถานการณ์การระบาดเท่านั้นแต่ต้องเดินหน้า โดยการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักต่อ การส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน รวมถึงสุขภาพแบบองค์รวม  โดยต้องรณรงค์ให้ประชาชนต้องตระหนักถึงการดูแลสุขภาพข่องปากและฟันของตนเอง ประกอบด้วย

1. การแปรงฟันอย่างถูกต้อง และต้องแปรงฟันอย่างน้อย2เวลาคือเช้า-เย็น หรือ หลังตื่นเช้าและ ก่อนนอน ทั่วทั้งปาก ครบฟันทุกๆซี่ ทุกๆวัน

2. ต้องมีการฝึก การแปรงให้ถูกวิธี และต้องรู้จักเลือกแปรงสีฟัน ยาสีฟันที่เหมาะสม เช่น ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

เพราะจะช่วยลดโรคฟันผุได้

3. การเลือกใช้ ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ที่จะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

4. ทันตแพทย์ รวมถึงทันตบุคลากรทั้งหมดจึงควรต้องช่วยกัน หาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งเสริมให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา จะประสานงานอย่างไรที่จะให้ โรงเรียน และสถานศึกษา

มีส่วนร่วมในการส่งเสริมป้องกันมากที่สุด ในการที่จะกระตุ้น ฝึก สร้างนิสัยการดูแลตนเองในเรื่องของสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคช่องปาก อันเป็นกุญแจสำคัญที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดหากสามารถทำได้ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้นั้นได้ทำให้เห็นแล้วว่า ดีกว่า,ง่ายกว่า,ประหยัดกว่า ต้นทุนน้อยกว่าการที่จะต้องมา

รักษาตามสภาพความเจ็บป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งยังคงสุขภาพที่แข็งแรงเอาไว้ได้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 นี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งที่โลกต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่างติดเชื้อไวรัสโคโรน่า Covid-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจร้ายแรงที่มีความสามารถ, ความเร็วในการแพร่กระจายของโรค สูงมากที่สุดโรคหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของโลกสร้างความสั่นสะเทือนให้กับระบบสาธารณสุขของทุกๆประเทศในโลกใบนี้ และสร้างผลกระทบ ความเดือดร้อนอย่างรุนแรง อย่างกว้างขวาง ต่อทุกๆอาชีพ ทุกๆวงการ ทุกๆธุรกิจ และในแทบจะทุกๆประเทศในโลกร่วม 200ประเทศที่ต้องมีชะตากรรมร่วมกัน และต้องร่วมสามัคคีกัน ร่วมมือกันต่อสู้ด้วยความอดทน และเข้มแข็งและหวังว่าสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นต่อไป ซึ่งเราอาจหวังว่าจะเกิดมีวัคซีนในวันข้างหน้า

แต่เราเองก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หาหนทางที่เหมาะสม และที่ดีที่สุดจะรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต.....