ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เปิดศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้สมอง จิตใจ ครบวงจร แห่งแรก ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา ฟื้นฟูจิตใจคนไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19

จากสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ต้องเผชิญทั้งโรคระบาดโควิด-19 พบเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ และความเครียดต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทางกรมสุขภาพจิตเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ได้เปิดศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ สมอง จิตใจ ครบวงจร Innovation and Learning : Brain Mind Mood Centre (IL-BMMC) มีแนวคิดการบูรณาการศาสตร์เชื่อมโยงทางด้านสมอง จิตใจและสังคม ด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยาศาสตร์ และการรู้คิด เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมองจิตใจครบวงจร และพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพสมอง จิตใจ ตามมาตรฐานสากล เป็นแห่งแรก ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้จัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2563 Working Together สุขภาพจิตไทย ก้าวไปพร้อมกัน โดยได้เปิดศูนย์แห่งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพ เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ ตลอดจนสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 งานบริการด้านสุขภาพจิต มีบทบาทสำคัญในการรับมือ ทั้งการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ปรับตัวในชีวิตประจำวัน รวมถึงการประเมินสุขภาพจิตและเยียวยาจิตใจ จากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดแนวทางการรณรงค์ทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์สุขภาพจิตเพื่อให้ทุกภาคคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายถึงศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ สมอง จิตใจ ครบวงจร ว่า ศูนย์นี้เกิดจากแนวคิดการบูรณาการศาสตร์ โดยเชื่อมโยงด้านสมองจิตใจและสังคม (Bio-Psychosocial) ด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยาศาสตร์ และการรู้คิด ทั้งยังเป็นศูนย์การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมสุขภาพด้านสมองจิตใจ พร้อมกับเผยแพร่ผลงานวิชาการ และจำทำหลักสูตรฟื้นฟูสมองจิตใจครบวงจร ฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น และถ่ายทอดนวัตกรรม

ภายในศูนย์แห่งนี้ แบ่งออกเป็น คลินิก และศูนย์ย่อย ได้แก่ 1.ศูนย์พัฒนาองค์ความเรียนรู้หลักสูตร BMM 2.คลินิก Brain Activity บำบัดปรับสมดุลการนอน บำบัดและปรับสมดุลการเคลื่อนไหวของสมอง บำบัดปรับสมดุลกล้ามเนื้อเพื่อการผ่อนคลาย ปรับสมดุลความจำและการเรียนรู้ 3.คลินิกกายฟิต จิตดี มีปัญญา อายุยืนเชื่อมโยงวิถีพุทธ วิถีไทย และ 4.คลินิกแพทย์แผนไทย

นางสาวนิตยา สุริยะพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯนี้มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่มีปัญหาทั้งกาย จิต สังคม ฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสมอง ฟื้นฟูจิตใจที่ท้อไม่ให้เครียด และกลับสู่สังคมเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข โดยเปิดรับทั้งคนทั่วไปที่ต้องการเข้ามาปรึกษา กลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีปัญหาชีวิต ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่ได้ หรือผู้ที่ทรมานจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังส่งผลต่อการนอน เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ปวดหัวมากจนนอนไม่ได้ ศูนย์ฯจึงดูแลทั้งปัญหาด้านสมองซึ่งเป็นต้นเหตุให้เบาบาง ส่งผลให้สภาพจิตใจผู้ป่วยดีขึ้น โดยอันดับแรกเมื่อเข้ามาจะต้องมาที่ห้องคลื่นสมองวัดคลื่นสมองเพื่อประเมินผล ทดสอบสมองว่ามีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีปัญหาด้านอารมณ์ก็จะแสดงผล จากนั้นจะมาที่ห้องปรับสมดุลการนอน ให้ร่างกายกลับไปสมดุลด้วยการปรับนาฬิกาชีวิตเพื่อให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น เพราะเมื่อร่างกายมีปัญหาด้านการนอนหลับจะหลั่งสารคอร์ติซอล (Cortisol) ทำให้เมลาโทนินไม่หลั่ง เครื่องมือที่ใช้นี้เรียกกันว่า เครื่องกรอกลูกตา (Hand Box Activity) ทำงานโดยให้ผู้ป่วยกดปุ่มสีแดงตามที่เกิดขึ้นบนเครื่อง การกรอกลูกตา 300 รอบขึ้นไปถึงจะกระตุ้นได้ช่วยให้สงบ นอกจากนี้ ยังกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันกรอกลูกตาอยู่ในช่วงการทดลอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกได้ที่บ้านเพื่อปรับสมดุล

"ปัญหาการนอนหลับอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อเช่นกัน จากอาการปวดต่าง ๆ ทำให้นอนหลับได้ยาก จึงมีเครื่องกระตุ้นระบบประสาทผูกที่ข้อมูลทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อยู่ภายในห้องปรับสมดุลสมองและการเคลื่อนไหว ช่วยเรื่องคนที่มีปัญหาเดินเซ หรือหกล้มบ่อย ๆ มาปรับสมดุลการทรงตัว ส่วนขั้นตอนสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักรักษาด้วยยาไม่หาย จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในห้อง TMS ใช้เครื่องนี้ประกอบกับการทานยา ในอนาคตกำลังเตรียมการดูแลสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำเสื่อม หลงลืมง่าย เพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้สูงอายุต่อไป" นางสาวนิตยา อธิบาย

หัวหน้าศูนย์ฯ เพิ่มเติมว่า เมื่อเข้ารับการประเมิน ดูแลด้านสมองและการเคลื่อนไหว เข้ากระบวนการให้คำปรึกษาโดยพยาบาลที่ประเมิน พร้อมให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปทำ จากนั้นจะติดตามผลโดยใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

เพราะร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่เชื่อมถึงกัน การฟื้นฟูสุขภาพจิตจะช่วยบรรเทาอาการเครียด ลดอัตราการฆ่าตัวตาย และช่วยให้คนในสังคมฝ่าวิกฤตทุกอย่างที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง