ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาตินำทีมเปิดงาน Voice of Liver: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง กระตุ้นสังคมให้ตระหนัก ภัยร้ายมะเร็งตับที่คร่าชีวิตคนไทย

มะเร็งตับโรคร้ายที่พรากลมหายใจคนไทยมากที่สุด ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จัดงานขึ้นภายใต้ชื่อ Voice of Liver: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง เนื่องด้วยทุกเดือนตุลาคม ประเทศไทยและทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านและสร้างความตระหนักให้กับมะเร็งตับ โรคที่มีอุบัติการณ์ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 สำหรับเพศชายและอันดับ 2 ในเพศหญิง

จากสถิติของกองทุนวิจัยมะเร็งโลกในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลกที่พบมะเร็งตับสูงที่สุด เทียบเป็นพบผู้ป่วยมะเร็งตับอยู่ที่ 21 รายต่อประชากร 100,000 คน มะเร็งยังไม่ใช่แค่ภัยสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) กล่าวว่า เนื่องด้วยโรคมะเร็งตับจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบเเพทย์ในระยะลุกลามแล้ว จึงเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปีพ.ศ. 2564 จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของโรคมะเร็งตับยิ่งเลวร้ายลง ซึ่งสอดคล้องกับอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งตับที่มีเเนวโน้มสูงขึ้นในผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่อายุน้อยก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้เกิดความสูญเสียของเเรงงานเเละศักยภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเเละพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เพียงปัจจัยเดียวก็สูงถึง 11,836 ล้านบาทในเพศชาย เเละ 706 ล้านบาทในเพศหญิง

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์

"สำหรับปัจจัยเสี่ยงมะเร็งตับ เช่น การมีภาวะตับแข็ง การได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี ซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมจนเกิดภาวะความเป็นพิษของแอลกอฮอล์ การได้รับหรือสัมผัสสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และการสัมผัสกับสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหาร เช่น ถั่ว ข้าวโพด และพริกแห้ง สำคัญคือโรคมะเร็งตับนั้นไม่ค่อยแสดงอาการ แต่การรักษาที่ดีที่สุดต้องเริ่มในระยะแรก ๆ จึงต้องค้นให้เจอโดยเร็วเพื่อเข้ารับการรักษา รวมถึงหาแนวทางป้องกัน ดูแลร่างกาย และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี" นพ.จินดา เพิ่มเติม

ด้าน รศ.พญ. อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข อุปนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เสริมว่า อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งตับหากเทียบต่อปี 3 อันดับแรกจะเกิดได้จากกรณีดังนี้ ตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี 2.2%-4.3% ตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบซี 3.7%-7.1% และตับแข็งจากแอลกอฮอล์ 0.2%-1.8% โดยปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ มารดามีเชื้อ สัมผัสเลือดของผู้มีเชื้อ มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อ ใช้มีดโกนหรือแปรงฟันร่วมกัน ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้น และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบบี หากเป็นเพศชาย อายุมาก เป็นโรคตับแข็ง มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว มีจำนวนไวรัสตับอักเสบบีสูง ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรอ (มีสารแอลฟ่าท็อกซิน) สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งตับได้

สำหรับแนวทางในการรักษาโรคมะเร็งตับ รศ.พญ. อาภัสณี อธิบายว่า สำหรับการตรวจหาโรคจะตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์และ Alpha fetoprotein หรือตรวจหามะเร็งตับด้วยการตรวจทางรังสี CT scan และ MRI ด้านการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดและระยะของมะเร็งตับ เช่น มะเร็งตับระยะต้นขนาดน้อยกว่า 5 เซนติเมตร การรักษาจะทำการผ่าตัด ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หรือจี้ด้วยความร้อนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มะเร็งระยะกลางขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร จะทำการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงเข้าสู่ตับ (Transarterial Chemoembolization-TACE) แต่ถ้าเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลามจะให้ยารับประทาน (Systemic Therapy)

ขณะที่ รศ.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพง ตัวแทนมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมเรื่องการรักษาโรคมะเร็งตับว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ไปมาก ยาในอดีตนั้นทำได้แค่ทำให้โรคนิ่ง แต่การรักษาใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย สำหรับรักษาคนไข้มะเร็งตับชนิดที่เป็นมะเร็งที่เซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เป็นการให้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ควบคู่กับยาต้านการสร้างหลอดเลือดที่คอยให้อาหารแก่ก้อนมะเร็ง (Anti-angiogenesis) ยาทั้ง 2 ชนิดนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง ช่วยควบคุมไม่ให้โรคลุกลามและลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้

ด้านนางหัทยา วงษ์กระจ่าง ภรรยาของนายศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตนักแสดงและผู้กำกับ ได้เปิดเผยในมุมของครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ว่า ปกตินายศรัณยูตรวจร่างกายเป็นประจำจนมาปี 2561-2562 ที่ทำงานอย่างหนักและไม่ได้ตรวจร่างกาย ทั้งที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่เจ้าตัวมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมานาน จนพัฒนามาเป็นมะเร็งตับ ร่วมกับการดำเนินชีวิตในอดีต สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การพักผ่อนน้อย ความเครียด เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สะสมมาตั้งแต่สมัยก่อน

"พอทราบว่าพี่ตั้วเป็นมะเร็งตับก็รู้สึกตกใจ แต่เราเป็นคนใกล้ชิด ต้องมีสติ จึงปรึกษากับคุณหมอว่าต้องทำอย่างไร สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเสริมสร้างกำลังใจที่ดีให้กับผู้ป่วย เหตุการณ์ของพี่ตั้ว ทำให้เรารู้สึกว่าต้องหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ยิ่งพออายุมากขึ้น การตรวจร่างกายเป็นประจำเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้ายิ่งตรวจเจอเร็ว เราก็สามารถรับมือกับโรคมะเร็งตับได้ดียิ่งขึ้น อย่าคิดว่าครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคมะเร็งแล้วเราจะไม่เป็น ต้องตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม" นางหัทยา กล่าว

แม้ว่ามะเร็งตับจะคร่าชีวิตคนไทยมากมายต่อปี แต่หากรู้ทัน รู้จักป้องกัน ลดความเสี่ยงการใช้ชีวิต จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคร้ายได้ รวมถึงการตรวจร่างกายเป็นประจำ หากพบแล้วรีบรักษาโอกาสหายและรักษาชีวิตไว้ได้ก็จะยิ่งสูง