ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.ดร.นพ. วาเลนติน ฟัสเตอร์ และนพ.เบอนาร์ด พีคูล รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2563 ผลงานโดดเด่นด้านการแพทย์และสาธารณสุข

เป็นประจำทุกปี ที่ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดขึ้นเพื่อมอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานโดดเด่น โดยแบ่งเป็นสาขาการแพทย์และสาขาการสาธารณสุข ในปี 2563 นี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 มากถึง 44 ราย จาก 18 ประเทศ ภายหลังจากนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย และมีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

สำหรับผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 29 ประจำปี 2563 ประกอบด้วย สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร. นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์ (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Bernard Pécoul, M.D., MPH.) จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ในสาขาการแพทย์ ได้คัดสรรโดยมีเกณฑ์หลักสำคัญว่า ต้องเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่มีความหมายมาก เน้นการค้นพบที่มีน้ำหนักจนนำไปสู่การประยุกตร์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติจำนวนมากและอย่างกว้างขวาง โดยศ.ดร. นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลเม้าท์ไซนาย นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติ กรุงมาดริด ประเทศสเปน หัวหน้ากองบรรณาธิการ วารสารวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกาสหรัฐอเมริกา ได้ทุ่มเททำงานด้านงานวิจัยด้านโรคหัวใจ ศึกษาลงรายละเอียดการวิจัยถึงบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จากการเริ่มในสัตว์ทดลองจนต่อยอดศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเห็นเป็นประโยชน์ของการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วย

ศ.ดร.นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พัฒนาการของการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เริ่มจากการผ่าตัด โดยการผ่าตัดเดิมจะใส่เส้นเลือดดำ ในตอนหลังใช้เส้นเลือดแดง ต่อมามีบางรายที่ตีบตันที่เดียว แทนที่ต้องทำการผ่าตัด ก็เปลี่ยนมาเป็นวิธีการผ่านสายทำบอลลูนหัวใจ ใส่สเต็นท์หรือขดลวด (Stent) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ถ่างหรือขยายหลอดเลือดค้างไว้ ต่อมาพบว่า สเต็นท์ ข้างหนึ่งเกิดการตัน จึงเกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด

"การศึกษาของศ.ดร. นพ.วาเลนติน ฟัสเตอร์ ได้ศึกษาลงลึกเป็นหลักการไปถึงขั้นเอาสารไปเคลือบสเต็นท์ ต่อเนื่องตั้งแต่ขั้นตอนการผ่าตัดถึงสเต็นท์ ซึ่งผลงานใหญ่ ๆ คือการพบว่า การอุดตันทั้งหมดมาจากกลไกเดียวกันคือเกล็ดเลือด ถ้าเราสามารถบล็อกการทำงานของเกล็ดเลือดได้ การอุดตันก็จะน้อยลง จึงนำหลักการเรื่องการให้ยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือดเพื่อป้องกันการอุดตัน มาช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในผู้ป่วยลง ทั้งยังช่วยปรับปรุงให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันดีมาก"

ด้านสาขาการสาธารณสุขนั้น นพ.เบอนาร์ด พีคูล ก็ทำงานอย่างหนักเพื่ออุทิศชีวิตช่วยเหลือคนยากไร้ โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารในองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย ศึกษาโรคที่คนจนเป็นกันเยอะ ใส่ใจเป็นพิเศษกับผู้คนที่อยู่ในประเทศยากจน ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) ขึ้นในปี พ.ศ.2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนายาสำหรับคนยากจน จนเกิดเป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก

นพ.เบอนาร์ด พีคูล

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า นพ.เบอนาร์ด พีคูล เป็นผู้พบว่า การใช้ยาเมลาโซพรอล (Melarsoprol) ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิส (African trypanosomiasis) หรือ โรคเหงาหลับ (Sleeping sickness) ตัวยาเป็นอนุพันธ์ของสารหนู หรือมีองค์ประกอบของสารหนู ในการรักษาคนไข้ 20 ราย พบ 1 รายเสียชีวิต ทำให้รู้สึกว่า คนพวกนี้ยากจนและยังต้องเจอกับโรคแปลก ๆ และบริษัทยาส่วนใหญ่ไม่ได้พัฒนาวิจัย เพราะยาไม่สามารถขายได้แพง จึงตัดสินใจก่อตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย

"โรคเหงาหลับ ส่วนใหญ่เกิดจากพยาธิ จำพวกพยาธิในเลือด พยาธิบางชนิดก่อให้เกิดการอุดตัน ไปได้ทั้งที่ตับ ไต และสมอง ทำให้คนจำนวนหนึ่งเมื่อเป็นโรคนี้จะเกิดการง่วงแล้วก็หลับ โรคพวกนี้ไม่ค่อยเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีรายได้สูง ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งหลาย บ่อยครั้งจะไปเจอในกลุ่มคนที่เศรษฐานะไม่ค่อยดี เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียบางส่วน องค์กร DNDi จึงใช้กระบวนการวิชาการ ทำวิจัยค้นหาตัวยาหรือสารที่สามารถจัดการพยาธิได้แต่ราคาไม่แพง ตอนนี้พัฒนายามาได้แล้ว 8 ตัว และยังมีโครงการที่จะทำอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอีกกว่า 10 โรค" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า ทางศิริราชได้ลงนามความร่วมมือเพื่อทำความร่วมมือด้านการวิจัยหาแนวทางรักษาไข้เลือดออก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ศิริราชน่าจะเป็นแห่งแรกที่ได้จับมือกับ DNDi ลงนามอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม งานพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 จำเป็นต้องเลื่อนออกไป จากกำหนดการเดิมที่พระราชทานรางวัลเป็นประจำในช่วงเดือนมกราคม เนื่องจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชสมภพในวันที่ 1 มกราคม 2535 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโคโรนาไวรัส 2019 จำเป็นต้องเลื่อนวันพระราชทานรางวัลไปในปี 2565 โดยเชิญผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564 มาพร้อมกัน