ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเยือนศิริราช พร้อมแสดงปาฐกถาในผลงานที่ได้รับรางวัลอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

วันนี้ (26 ม.ค. 65) ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะฯ ให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทยและสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2563 - 2564 ผลงานที่ได้อุทิศตน ทุ่มเทเวลาศึกษาวิจัย อันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ความรู้สึกที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่จะนำมาต่อยอด หรือเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจแก่แพทย์ รุ่นหลังได้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563  ได้แก่

  • สาขาการแพทย์ : ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟัสเตอร์ (Prof. Dr. Valentin Fuster, M.D., Ph.D.)
  • สาขาการสาธารณสุข : นายแพทย์เบอนาร์ด พีคูล (Dr. Bernard Pécoul, M.D., MPH.)

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564 

  • สาขาการแพทย์ : ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Prof. Dr. Katalin Karikó, Ph.D.) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Prof. Dr. Drew Weissman, M.D., Ph.D.)  และศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ คุลลิส (Prof. Dr. Pieter Cullis, Ph.D.)

รศ.นพ.ประภัทร วานิชพงพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการรายสัมภาษณ์ ผู้รับรางวัลทั้ง  5 ท่านในประเด็นคำถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ แผนการในอนาคต ตลอดจน คำแนะนำสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์และการวิจัย โดยมีใจความโดยสรุปดังนี้

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วาเลนติน ฟูสเตอร์ (Valentin Fuster, M.D., Ph.D.)  จากสหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานเรื่อง “From The Circulating Platelet to The Promotion of Health” ได้กล่าวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นในการทำงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513  ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของเกล็ดเลือดในกระบวนการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่นำมาใช้เป็นทางเบี่ยงภายหลังจากการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดในการสร้างขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยา เพื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ซึ่งถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันนับล้านคนทั่วโลก

นายแพทย์เบอร์นาร์ด พีคูล (Bernard Pécoul, M.D., MPH.) จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส เจ้าของผลงานเรื่อง“Modern medicine: a triumph of science, but a defeat for access?” ได้กล่าวว่า ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จากประเทศไทยในครั้งนี้ เนื่องจากช่วงแรกของการทำงานของตนนั้นอยู่ที่ประเทศไทย ก่อนที่ นายแพทย์พีคูล จะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) นั้น

นายแพทย์พีคูล เป็นผู้อำนวยการบริหารในองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงยาจำเป็นของกลุ่มประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเซีย หลังจากนั้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative - DNDi) เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการรักษาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาย่อมเยา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ถูกละเลย

นอกจากนื้ นายแพทย์พีคูล ได้กล่าวถึง การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Disease initiative (DNDi) กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการร่วมมือแบบภาคีระดับนานาชาตินั้น มุ่งเน้นไปที่การวิจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในการค้นหาและส่งมอบแนวทางการรักษาใหม่สำหรับโรคไข้เลือดออกให้แก่กลุ่มประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและในภูมิภาคใกล้เคียง

นายแพทย์พีคูล ได้ฝากไว้ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ว่า สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกไม่เพียงส่งผลให้สถานการณ์ของกลุ่มโรคที่ถูกละเลย ซึ่งรวมถึงโรคไข้เลือดออกแย่ลงไปกว่าเดิมแล้ว เรายังจะเห็นการแพร่กระจายของโรคนี้ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยได้รับผลกระทบจากโรคนี้อีกด้วย ดังนั้น การ่วมมือกันการค้นหาวิธีการรักษาจึงนับเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, M.D., Ph.D.) จากฮังการี/สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานเรื่อง “Developing mRNA for therapy” ได้กล่าวว่า ก่อนที่จะได้มาจุดในจุดที่ประสบความสำเร็จเช่นในตอนนี้ จุดเริ่มต้นของชีวิตของท่านนั้นมาจากชุมชนเล็ก ๆ ในประเทศฮังการี ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในบ้านเกิด และเริ่มทำงานในฐานะนักวิจัยด้านชีวเคมีตั้งแต่ปี 1970s  ซึ่งในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยี mRNA ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ และฮังการีไม่มีทั้งเงินทุนและห้องทดลองที่ก้าวหน้าพอในการวิจัยพัฒนาด้านนี้

ทำให้ปี 1985 ท่าน พร้อมด้วยครอบครัว  ตัดสินใจอพยพมาทำงานในสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายจึงได้ร่วมงานกับ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิทยาภูมิคุ้มกัน ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันเอชไอวี ที่เป็นต้นตอของโรคเอดส์ และสนใจใช้เทคโนโลยี mRNA ในการทดลอง และได้ค้นพบวิธีปรับแต่งโมเลกุลของ mRNA ให้สามารถเจาะผ่านระบบป้องกันของร่างกายเพื่อเข้าไปในเซลล์ โดยไม่ทำให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่อต้านออกมา ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จและนั่นเป็นที่มาของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน

ดร.กอริโก ได้กล่าวขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจและคอยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในตอนนี้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานเรื่อง “Nucleoside-modified mRNA-LNP Vaccines” ได้กล่าวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการทำงานก่อนที่จะได้พบและทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.กอริโก นั้นส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจหาทางรักษาหลานชายซึ่งป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิแต่กำเนิด หลังจากสำเร็จการศึกษาท่านได้ทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ฟิลาเดลเฟีย และได้ทำงานให้กับนายแพทย์ แอนโทนี เฟาซี (Dr. Anthony Fauci) เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนจากดีเอ็นเอ เพื่อป้องกันเชื้อเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์

หลังจากที่ได้พบกับศาสตราจารย์ ดร.กอริโก  ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์จนประสบความสำเร็จ  เทคโนโลยี mRNA มีขั้นตอนการผลิตที่รวดเร็ว ง่าย และใช้ทุนน้อยกว่าการผลิตวัคซีนชนิดอื่นๆ  นอกจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ยังมีการพัฒนาไปสู่วัคซีนตัวอื่นๆ ด้วย เช่น วัคซีนไข้วัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย เอชไอวี เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Cullis, Ph.D.) จากแคนาดา เจ้าของผลงาน “Lipid nanoparticles and Covid-19 mRNA vaccines” ได้กล่าวถึงการศึกษาของตน ซึ่งในตอนแรกนั้นท่านเลือกศึกษาในด้านฟิสิกซ์มาก่อนที่จะหันเหมาศึกษาทำงานด้านชีวเคมีเกี่ยวกับอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล งานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การนำส่งยาต้านมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อมะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดพิษต่อเนื้อเยื่อปกติ รวมถึง อนุภาคไขมันที่มีไขมันที่สามารถทำให้มีประจุบวกได้

โดยไขมันดังกล่าวไม่มีประจุเมื่ออยู่ในสภาพความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง แต่จะมีประจุบวกเมื่ออยู่ในสภาพเป็นกรด อนุภาคไขมันเหล่านี้ไม่ทำปฏิกิริยาและไม่เป็นพิษต่อเซลล์เนื่องจากไม่มีประจุ แต่เมื่อถูกนำเข้าสู่เซลล์ภายในเอนโดโซมซึ่งมีสภาพเป็นกรดก็จะเปลี่ยนเป็นมีประจุบวก ซึ่งจะทำให้หลอมเชื่อมกับเยื่อไขมันของเซลล์ที่มีประจุลบ การหลอมเชื่อมของเยื่อไขมันดังกล่าวทำให้มีการนำส่งส่วนประกอบภายในของอนุภาคไขมันเช้าสู่ไซโตปลาสซึมของเซลล์ วิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน  นอกจากนี้แล้ว องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยของท่านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคยังถูกนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.คัลลิส ได้ฝากข้อคิดถึงบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ว่า จงทำในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนุก การลองทำสิ่งใหม่ ๆ จะช่วยให้เจอแนวทางที่ตนรัก

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1  มกราคม 2535

ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และ เงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 และประจำปี 2564  ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง