ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายละเอียดจุดเริ่มของสถานที่กักกันโรคโควิด-19 สู่การขยายถึงนโยบายการกักกันโรคระดับชาติ หรือ National Quarantine Policy

 

“สถานที่กักกันโรคที่รัฐกำหนด” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ประเทศไทยใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19จากต่างประเทศ ตลอดเวลานับตั้งแต่เปิดสถานที่กักกัน จนพัฒนาเป็นหลากหลายรูปแบบ สามารถสกัดกั้นผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตรวจพบระหว่างระยะเวลาการกักกัน ด้วยเหตุนี้ “สถานที่กักกันโรค”ที่เหมือนจะเป็นเรื่องระยะสั้นในช่วงแรก กลับกลายเป็นเรื่องระยะยาวและผลักดันเป็น “นโยบายการกักกันโรคระดับชาติ (National Quarantine Policy) ”  จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ราวปลายเดือนมีนาคมที่ประเทศไทยเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ ผ่านมา 8 เดือน สถานที่กักกันสามารถคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่ติดโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย.2563 พบว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 3,922 ราย ในจำนวนนี้เป็นการตรวจพบระหว่างการเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักกันถึง 961 ราย จากจำนวนผู้เดินทางเข้ารับการกักกันสะสมกว่า 155,527 คน


จุดเริ่มของสถานที่กักกัน

นสพ.พรพิทักษ์ พันธุ์หล้า ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) บอกว่า ในพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดเรื่องการมีสถานที่กักกันหรือเรื่องของการกักกันไว้ชัดเจนอยู่แล้ว หากย้อนไปดูระบบปกติของการเข้าประเทศในแต่ละประเทศจะมีเรื่อง CIQ ซึ่งตัวQก็คือ Quarantine ที่หมายถึงการกักกัน อย่างเช่นหากมาทางเรือ อยู่ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยให้เรือเข้าประเทศไทย จอดทอดสมอรอแล้วให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเข้าไปดู โดยมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทำหน้าที่ในส่วนนี้ หรือทางอากาศ สนามบินต่างมีการเตรียมอาคารที่เดินทางไม่ไกลไว้รองรับ หรือหากย้อนกลับไปตอนโรคซาร์สก็ใช้โรงพยาบาลที่รักษาและกักกันไปในตัว จึงมีการกำหนดไว้ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เพราะฉะนั้นในแต่ละช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ จะมีการวางแผนฉุกเฉินรองรับสถานที่กักกันไว้

นสพ.พรพิทักษ์ พันธุ์หล้า


“แม้ในพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีการระบุเรื่องการสั่งให้กักกันผู้ที่สงสัยจะติดโรคระบาดตามนิยามที่กำหนด แต่ด้วยความที่ประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จำเป็นต้องใช้มาก่อน เดิมจึงจัดสถานที่รองรับคนราว 50-60 คนที่เป็นคนนั่งใน 2 แถวหน้าและ 2 แถวหลังบนเครื่องบินลำเดียวกับผู้สงสัยเท่านั้น ไม่มีการวางไว้กรณีกักกันผู้เดินทางบนเครื่องบินทั้งลำ กรณีโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ระบาดใหญ่ และโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้ง ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าคนไข้กลุ่มนี้จะมาอย่างไร ที่ไหน เมื่อไม่รู้อะไรเลยมาตรการจึงต้องเต็มที่ไว้ก่อน ด้วยการกักตัวทั้งลำและระยะเวลา 14 วัน ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานโรคติดต่อประจำด่านที่จะสั่งดำเนินการ”นสพ.พรพิทักษ์ กล่าว


ขยายหลากหลายรูปแบบ

ความจำเป็นของการเปิดสถานที่กักกันเป็นหลายรูปแบบ นสพ.พรพิทักษ์ บอกว่า เริ่มจากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)นำกฎหมายทั้งหมดมารวมเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ จึงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สถานที่กักกันแห่งรัฐ(State Quarantine) รองรับผู้ที่เดินทางเข้าโดยเครื่องบิน และสถานที่กักกันแห่งรัฐในพื้นที่(Local State Quarantine ) รองรับผู้เดินทางผ่านทางบกและทางน้ำ

เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง แม้รัฐบาลจะดูแลเรื่องความจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหารหรือการตรวจรักษาโรค แต่มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าขอเพิ่มจากที่รัฐให้ได้หรือไม่ โดยเต็มใจจ่ายเงินเพิ่มเอง จึงเกิดเป็นรูปแบบ Alternative State Quarantine ที่มีมาตรฐานเหมือนกันแต่มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น โดยผู้เข้ารับการกักตัวสมัครใจจ่ายเงินเอง ลดภาระของรัฐ ขณะเดียวกันมีบางกลุ่มต้องการเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ก็กลายเป็นรูปแบบ Alternative Hospital Quarantine รวมถึง กลุ่มคนที่เข้ามาเป็นการเฉพาะขององค์กร เช่น นักเรียนเข้ามาเรียน พนักงานหรือแรงงานต่างๆ จึงจัดตั้งเป็นสถานที่กักกันโดยองค์กร หรือ Organizational Quarantine เป็นการจัดรูปแบบสถานที่กักกันตามวัตถุประสงค์การเดินทางเข้ามาของแต่ละกลุ่มบุคคล


ทั้งนี้ แนวปฏิบัติพื้นฐานของสถานที่กักกันแต่ละรูปแบบไม่ต่างกัน ใน 5 งานหลัก ได้แก่ งานอำนวยการ งานป้องกันควบคุมโรค งานรักษาพยาบาล งานดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและงานสุขภาพจิต แต่จะแตกต่างกันตรงผู้ที่ควบคุมดูแล ซึ่งในส่วนของ 5 งานหลักใช้แนวคิดเช่นเดียวกับการดูแลผู้อพยพต่างๆ เป็นแนวทางการดูแลในภาวะภัยพิบัติเนื่องจากโรคระบาดถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติ โดยนำมาตรฐานกลาง อย่างเช่น มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ร่วมกับกาชาดสากลมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติ

“ระยะที่ผ่านช่วงแรกไปแล้ว เมื่อมีองค์ความรู้มากขึ้น ขณะนี้จึงมีการจัดระดับความเสี่ยงของประเทศต่างๆ เปรียบเทียบกับประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยง (Relative Risk Country :RRC) แบ่งประเทศเป็นสีเขียว เหลือง และแดง เพื่อพิจารณว่าผู้เดินทางจากประเทศไหน จำเป็นต้องกักตัวหรือไม่ ระยะเวลากี่วัน หรือเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการพิจารณาลดวันกักตัวในสถานที่กักกันเหลือ 10 วัน”นสพ.พรพิทักษ์กล่าว


เรื่องระยะสั้นสู่นโยบายระดับชาติ

นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า การที่จะต้องพิจารณาออกเป็นนโยบายการกักกันโรคระดับชาติ เนื่องจากมองถึงระยะยาวที่อาจจะเกิดปัญหาใครอยากจะตั้งสถานที่กักกันก็ตั้ง แต่ใครจะเป็นคนควบคุมกำกับให้มาตรฐานเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพราะกระบวนการของการจัดการเรื่องของการกักกันมีพรบ.หลายฉบับเข้ามาร่วมจัดการ และหากไม่มีพรก.ฉุกเฉิน กลับมาใช้กฎหมายปกติ เท่ากับให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการ จึงต้องกำหนดให้แต่ละจังหวัดทำตามมาตรฐานเหมือนกัน ดังนั้น การมีนโยบายการกักกันโรคระดับชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกลางที่ไม่สามารถดำเนินการต่ำกว่าที่กำหนด แต่หากจะเพิ่มมากขึ้นก็เป็นอำนาจดุลยพินิจของเจ้าของพื้นที่ถึงความปลอดภัยเฉพาะพื้นที่นั้นๆ


“เมื่อประกาศเป็นนโยบายระดับชาติหลังผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว ก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะกลายเป็นกฎหมาย และมีการออกแนวทางการปฏิบัติการตรวจสอบควบคุมในแต่ละประเภทของสถานกักกันที่ประกาศมาแล้ว และในอนาคตที่จะมีเพิ่มเติม เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่กักกันต่างๆได้“นสพ.พรพิทักษ์กล่าว

ASQ

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการกำหนดสถานที่กักกัน 7 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (State Quarantine) 2.สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ) 3.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนดในพื้นที่(Local Quarantine:LQ) 4.สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่(Alternative Local Quarantine;ALQ 5.สถานที่กักกันโดยองค์กร(Organizational Quarantine:OQ) 6.สถานที่กักกันในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด(Hospital Quarantine:HQ) และ7.สถานที่กักกันทางเลือกในสถานพยาบาล(Alternative Hospital Quarantine:AHQ)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง